ปีศาจ

ปีศาจ

ปีศาจ (Devil) เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างซับซ้อน มีหลายแง่มุม ซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม และตำนาน เพราะวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้มีผลต่อการสร้างภาพปีศาจตามคตินิยมไปด้วย

ในความเชื่อทางศาสนา ปีศาจมักถูกพรรณนาว่าเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย ล่อลวง คดโกง และถูกมองว่าเป็นปรปักษ์กับพระเจ้า รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ

แม้วิทยาศาสตร์จะไม่ยอมรับการมีอยู่จริงของปีศาจ แต่สำหรับผู้ที่มีความเชื่อทางจิตวิญญาณ ย่อมไม่ปฏิเสธเรื่องมารร้ายที่ล่อลวงมนุษย์ให้ไขว้เขวจากความดีงาม

ความชั่วช้าเลวทรามเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่อาจโทษว่าเป็นความผิดบาปเพราะปีศาจ

แต่หากเลือกจะแปรพักตร์จากความดีไปหาความชั่วร้าย ปีศาจก็กำลังอ้าแขนรอรับคุณอยู่หน้าประตูนรกแล้ว

ทำไมโลกนี้ถึงมีปีศาจ

ตั้งแต่กำเนิดโลกจนก่อตั้งอารยธรรมของมนุษย์ ผู้คนได้เผชิญกับความชั่วร้ายมากมาย ทั้งจากภัยธรรมชาติ โรคระบาด ความตาย และภัยจากมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสงครามหรืออาชญากรรม

เมื่อตระหนักว่าเผ่าพันธุ์ของเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่แสนจะอ่อนแอ มนุษย์จึงสร้างลัทธิศาสนาขึ้นมาเพื่อหาที่พึ่ง และหาเหตุผลให้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ ก่อเกิดเป็นตำนานแฟนตาซีต่าง ๆ

ปุจฉา : ทำไมฟ้าถึงร้อง
วิสัชนา : เพราะรามสูรเขวี้ยงขวานใส่นางเมขลายังไงล่ะ !

ปุจฉา : ทำไมมีข้างขึ้นข้างแรม
วิสัชนา : เพราะพระจันทร์รูปงามถูกพระพิฆเนศสาป หลังจากที่ไปบูลลีพระองค์น่ะสิ

ปุจฉา : ทำไมโลกนี้ถึงมีความชั่วร้าย
วิสัชนา : เพราะปีศาจนั่นล่ะ ที่ทำให้มันเป็นไป

ถ้าพิจารณา ความเชื่อเรื่องปีศาจ (Devil) จะมาคู่กับความเชื่อเรื่องเทวดา (Angel) เสมอ สองสิ่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แยกความดีออกจากความชั่ว

เหมือนกับการให้ภาพสวรรค์อันเป็นที่อยู่ของเทวดา ในดินแดนสุขาวดีแสนอุดมสมบูรณ์ และภาพนรกอันเป็นที่อยู่ของปีศาจ ในแดนอนธกาล เร่าร้อน และเต็มไปด้วยทุกขเวทนา

แตกต่างราวกับหยินหยาง สีขาว-สีดำ ที่ดำรงอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้

‘หยินหยาง (阴阳)’ เป็นสัญลักษณ์สำคัญประจำลัทธิเต๋าที่หมายถึง ความสมดุลของพลังในจักรวาล

ปีศาจ

หยิน-หยาง, สีดำ-สีขาว, ความชั่ว-ความดี ไม่ว่าจะมองอย่างไร ทั้งสองขั้วก็ไม่อาจกลายเป็นสิ่งเดียวกันไปได้ แต่เมื่อมารวมกันเป็นหนึ่ง กลับก่อให้เกิดพลังแห่งความสมดุลขึ้น และเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เราแยกแยะความแตกต่างระหว่างสองสิ่งออกจากกันได้อย่างชัดเจน

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับความเชื่อเรื่องปีศาจ เจ้าแห่งความชั่วร้ายที่เป็นขั้วตรงข้ามของความดีงาม ความชั่วทำให้เข้าใจว่าอะไรคือความดี ความดีทำให้เข้าใจว่าอะไรคือความชั่ว ความทุกข์ตรมทำให้เข้าใจความสุขสม และความสุขสมก็ทำให้ตระหนักได้ว่าไม่มีสิ่งใดคงอยู่ถาวร เพียงชั่วครู่ รอยยิ้มกว้างแห่งความสุขก็จะจางหายไปในอีกไม่กี่นาทีถัดมา

ดังนั้น ไม่ว่าปีศาจที่ทุกคนคิดจะหมายถึงตัวตน หรือเป็นเพียงอุปมาอุปไมยก็ตาม พวกเขาก็ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อให้มนุษย์แยกแยะระหว่างความดี-ความชั่วออก และตระหนักถึงสิ่งที่ควรทำกับสิ่งที่ไม่ควรทำ

ปีศาจ

ภาพ The Celestial War สงครามระหว่างทวยเทพกับปีศาจ สองฝ่ายนี้ถูกผูกโยงว่าเป็นปรปักษ์กันระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม

แต่หากวันใดเผลอไผลทำสิ่งที่เรียกว่าความชั่วลงไป ก็ต้องตระหนักรู้ถึงความผิดบาปและปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ไม่อย่างนั้นจะตกเป็นทาสของปีศาจที่หมายถึง คนที่ทำแต่นิสัยเชิงลบ อันนำมาซึ่งความโกลาหลวุ่นวาย เป็นภัยต่อตนเองและสังคม

ความแตกต่างระหว่าง ‘ปีศาจ’ และ ‘ซาตาน’

วัฒนธรรมสมัยนิยม สามารถใช้คำว่า ‘ปีศาจ (Devil)’ และ ‘ซาตาน (Satan)’ แทนกันได้ แต่อาจมีความหมายต่างกันไปในบริบทต่าง ๆ

‘ซาตาน (Satan)’ ในศาสนาคริสต์ เป็นคำเรียกเทวทูตที่กบฏต่อพระเจ้าจนถูกขับออกจากสวรรค์ ในบริบทนี้ ซาตานมักถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่มีเจตนาร้ายต่อมนุษย์ ล่อลวงมนุษย์ให้ทำบาป ต่อต้านพระประสงค์ของพระเจ้า

ปีศาจ

ภาพ ซาตาน (Satan) วาดโดย กุสตาฟ โดเร (Gustave Doré) จากเรื่อง Paradise Lost ของ จอห์น มิลตัน (John Milton)

ส่วนคำว่า ‘ปีศาจ (Devil)’ เป็นคำทั่วไป สามารถใช้เพื่อสื่อถึงสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่มีเจตนาร้ายต่อมนุษย์ หรือวิญญาณชั่วร้ายในทางศาสนาได้

ปีศาจ

ภาพ ปีศาจ (Devil) ที่ปรากฏตัวในความฝันของ จูเซ็ปเป ตาร์ตินี (Giuseppe Tartini) พร้อมสีไวโอลินบทเพลงหนึ่งที่แสนไพเราะจับใจ เมื่อตาร์ตินีตื่นจากฝัน เขาพยายามแกะบทเพลงของปีศาจที่ได้ยินนั้นออกมา จนกลายเป็นเพลง Devil’s Trill Sonata อันเร่าร้อน สนุกสนาน และเปี่ยมด้วยมนตร์ขลัง หากแต่เขากลับบอกว่านี่มันไม่ได้ใกล้เคียงกับบทเพลงที่ได้ยินในความฝันเลยด้วยซ้ำ จนถึงขั้นพูดว่า เขาจะยอมทุบไวโอลินทิ้งและเลิกเล่นไวโอลินตลอดชีวิตเลย หากได้ฟังบทเพลงนั้นอีกครั้ง

บางวัฒนธรรม ปีศาจถูกมองว่ามีตัวตนจำเพาะเจาะจง ขณะที่บางวัฒนธรรม ปีศาจถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่แสดงถึงความชั่วร้ายและการล่อลวง

ปีศาจในแต่ละศาสนา

ทุกศาสนานอกจากสอนให้เป็นคนดีละเว้นความชั่วเหมือนกันแล้ว ยังมีหลาย ๆ สิ่งที่มีความเหมือนกันอย่างน่าประหลาด แม้ชื่อเรียกจะต่างกัน แต่ก็อธิบายถึงสิ่งเดียวกันทั้งเรื่องนรก-สวรรค์ โลกหลังความตาย จิตวิญญาณ และเทวดากับปีศาจ

ปีศาจในที่นี้ใช่แค่เพียงเหล่าภูตผีวิญญาณร้าย แต่แต่ละศาสนาได้กล่าวถึง เจ้าแห่งความบาป ที่จะคอยมาล่อลวงจิตใจมนุษย์ให้ไขว้เขวต่อความดีงาม และละทิ้งคำสอนของพระเจ้ากับพระศาสดา ไม่ว่าทุกศาสนาจะมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ก็ตาม ความคล้ายคลึงอย่างน่าแปลกใจเหล่านี้ก็น่าคิดเหมือนกันนะ ว่าเหล่าผู้ก่อตั้งศาสนาเขาไปพบเจออะไรมา

ขอยกตัวอย่างมาเฉพาะสี่ศาสนาหลักของโลกยุคปัจจุบันนี้นะคะ

  • ศาสนาคริสต์

ในศาสนาคริสต์ ซาตานคือเทวทูตที่มีเจตนาร้ายและกบฏต่อพระเจ้า จึงถูกขับออกจากสวรรค์และกลายเป็นปีศาจ

ลักษณะของซาตานมีอธิบายไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิลและบันทึกทางศาสนาอื่น ๆ ว่าเป็นศูนย์รวมของความชั่วร้าย เป็นบ่อเกิดของความบาปทั้งปวงในโลก พยายามบ่อนทำลายอำนาจของพระเจ้า และชักนำผู้คนให้หลงผิดจากเส้นทางแห่งความดีงาม

ซาตานยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องสวรรค์-นรก และการต่อสู้ระหว่างความดีความชั่ว ซึ่งวิธีที่จะปลอดภัยจากซาตานได้ คือต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ต้องสวดมนต์ รวมถึงต้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามประเพณี

สรุปแล้ว ลักษณะของซาตานในศาสนาคริสต์ แสดงให้เห็นแนวคิดเชิงสัญลักษณ์และเทววิทยาอันทรงพลังเกี่ยวกับความชั่วร้าย การล่อลวง และการต่อสู้เพื่อความสมบูรณ์ทางจิตวิญญาณกับศีลธรรม

ปีศาจ

ภาพ อดัมกับอีฟในสวนอีเดน (Adam and Eve in The Garden Of Eden) แสดงให้เห็นต้นเหตุของการเกิด บาปกำเนิด (Original sin) จากตอนที่อีฟชวนอดัมทาน ผลไม้แห่งการรู้ถึงความดีและความชั่ว ที่พระเจ้าห้ามปรามพวกเขาไว้ว่าห้ามทานเด็ดขาด หลังจากที่นางถูกงูซึ่งเป็นซาตานแปลงกายมาล่อลวงให้ทานก่อนคนแรก

ภาพนี้บอกเจตจำนงว่าซาตานนั้นเป็นปรปักษ์ที่จ้องจะเอาชนะพระเจ้า โดยการล่อลวงมนุษย์ที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาให้หลงผิด

  • ศาสนาพุทธ

แนวคิดเรื่องปีศาจหรือซาตานในศาสนาพุทธ ไม่ได้มีลักษณะเดียวกับในศาสนาและตำนานอื่น ๆ

ศาสนาพุทธยอมรับการมีอยู่ของสิ่งเหนือธรรมชาติที่มีเจตนาร้ายต่อมนุษย์ รู้จักกันในนาม ‘มาร (Mara)’ หรือ ‘อสูร (Asura)’ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายอย่างแท้จริง และไม่ได้เป็นพลังที่ต่อต้านเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

วิถีชาวพุทธเน้นความสำคัญของการตระหนักรู้และเอาชนะสาเหตุของความทุกข์ ซึ่งเกิดจากกิเลส ได้แก่ ความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) และความหลง (โมหะ)

ส่วน มาร นั้น ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนสภาพจิตใจเชิงลบ หรืออุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณ เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน วิถีของชาวพุทธจึงมุ่งเน้นที่การพัฒนาคุณสมบัติเชิงบวก และการเอาชนะ นิสัยเชิงลบ (มาร) ในจิตใจ

ปีศาจ

ภาพธิดาพญามารสามตน นามว่า นางตัณหา นางอรดี และ นางราคา ที่พยายามร่ายรำเพื่อยั่วยวนพระพุทธองค์ให้หลงใหล เพื่อจะได้หยุดการบำเพ็ญเพียรที่มุ่งมั่นตั้งใจ หลังจากพระองค์ตรัสรู้แล้ว

ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้กับความต้องการทางธรรมชาติของมนุษย์ อันถือเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณของผู้ปฏิบัติธรรม

  • ศาสนาอิสลาม

ในศาสนาอิสลาม มารจะถูกเรียกว่า ‘อิบลีส (Eblis)’ หรือ ‘ชัยฏอน (Shaytan)’

อิบลีสเป็น ญิน (Genie) ถูกสร้างมาจากไฟที่ไม่มีเปลวควัน และไม่ยอมทำความเคารพอาดัม มนุษย์คนแรก เมื่ออัลลอฮ์ (พระเจ้า) สั่งให้ทำเช่นนั้น จึงถูกขับออกจากสวรรค์ และกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของมนุษยชาติ

ในเทววิทยาของอิสลาม อิบลีสถูกมองว่าเป็นผู้ล่อลวงที่พยายามนำผู้คนออกจากเส้นทางแห่งความดีงาม ไปสู่ความบาปและความดื้อรั้น

อิบลีสยังมีบทบาทสำคัญในความเชื่อและการปฏิบัติของชาวมุสลิม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเจตจำนงเสรี และการต่อสู้ระหว่างความดีความชั่ว

ชาวมุสลิมเชื่อว่าการละหมาดเพื่อให้อัลลอฮ์คุ้มครอง และการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจะช่วยให้ปลอดภัยจากอิบลีสได้

โดยรวมแล้ว ปีศาจในศาสนาอิสลามเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังของความชั่วร้ายและการล่อลวง ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของการต่อต้านการล่อลวง และแสวงหาที่พึ่งทางจิตวิญญาณกับศีลธรรมในชีวิตประจำวัน

ปีศาจ

ภาพเหล่าเทวดาที่ทำความเคารพอดัมตามคำสั่งของอัลลอฮ์ ยกเว้น อีบลิส (Eblis) ที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งนั้น

ภาพนี้แสดงให้เห็นความดื้อรั้นของอีบลีส ซึ่งเขาก็ใช้อำนาจในส่วนนี้คอยปั่นหัวมนุษย์ให้ดื้อรั้นต่อคำสั่งสอนของอัลลอฮ์เช่นกัน

  • ศาสนาฮินดู

ปีศาจของศาสนาฮินดูเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงพลัง เป็นตัวแทนของพลังแห่งความมืด ความโกลาหล และความคิดเชิงลบ เรียกกันว่า ‘อสูร (Asura)’

ในตำนานฮินดู เหล่าอสูรมักจะขัดแย้งกับเหล่าทวยเทพที่เป็นตัวแทนของแสงสว่าง ความมีระเบียบ และความคิดเชิงบวก

ความจริงแล้วมีปีศาจมากมายในศาสนาฮินดู แต่ละตนจะมีลักษณะเฉพาะและเรื่องราวของตนเอง
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ปีศาจในศาสนาฮินดูนั้นไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย หรือทำชั่วแล้วกลับตัวไม่ได้เสมอไป

เพราะอสูรบางตนยังถือเป็นสาวกเบอร์ต้น ๆ ของพระศิวะด้วยซ้ำ และชาวฮินดูหลายคนก็ให้ความนับถือด้วย

ยกตัวอย่างอสูรที่หลาย ๆ คนน่าจะรู้จักกัน เช่น พระอสุรินทราหู (ราหู), ท้าวเวสสุวรรณ, ทศกัณฐ์, มุสิกะ (พาหนะของพระพิฆเนศวร) เป็นต้น

ดังนั้น ปีศาจในศาสนาฮินดูจึงเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ระหว่างความดีความชั่ว และการรักษาสมดุลของจักรวาล

ปีศาจ

ภาพ พระพิฆเนศ ประทับอยู่บนหลัง มุสิกะ (หนู) ผู้เป็นปีศาจคชสาร (ปีศาจช้าง) มีชื่อเดิมว่า กาจามุกะ บางตำนานก็บอกว่าชื่อ อสุรภังคี ตำนานกล่าวว่า กาจามุกะคชปีศาจได้รับพรคุ้มครองจากเทพเจ้า ทำให้เขาทะนงในฤทธิ์อำนาจของตนอย่างมาก จนมาก่อกวนความสงบสุขของสามโลก เป็นเหตุให้พระพิฆเนศต้องลงมาจัดการ ระหว่างทำสงคราม พระพิฆเนศได้หักงาขวาของพระองค์แล้วพุ่งเข้าใส่กาจามุกะ (ถือเป็นอีกตำนานเรื่องการเสียงาของพระองค์) กาจามุกะเสียท่าจึงรีบแปลงกายเป็นหนูวิ่งหนีไป แต่พระพิฆเนศก็กระโดดขึ้นประทับบนหลัง แล้วปราบเจ้าปีศาจหนูแปลงจนสิ้นฤทธิ์ พระองค์ใช้เจ้าหนูแปลงตัวนี้เป็นพาหนะประจำพระองค์มานับแต่นั้น และเรียกเขาว่ามุสิกะ อันแปลว่า หนู

ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงวิถีของเหล่าเทพและปีศาจที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ พึ่งพาอาศัยกันได้ แต่ปีศาจในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจะต่างจากศาสนาอื่นตรงที่ ต่อให้เหล่าปีศาจจะร้ายกาจหรือยิ่งใหญ่ค้ำฟ้ามากเพียงใด พลังก็ยังเป็นรองเหล่าเทพ และสุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ให้พลังของความดีงามอยู่ดี

หน้าตาที่แท้จริงของปีศาจ

ใบหน้าที่แท้จริงของปีศาจนั้นเป็นเรื่องของการตีความและความเชื่อส่วนบุคคล ผสมกับบริบททางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่

แม้ว่าจะพูดถึงปีศาจชนิดเดียวกัน แต่แค่ต่างศาสนา ต่างพื้นที่ ต่างยุคสมัย ภาพของปีศาจนั้นก็แตกต่างกันแล้ว

อย่างเช่น ในคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์นั้น ไม่ได้มีคำอธิบายเรื่องรูปลักษณ์ที่แท้จริงของปีศาจแต่อย่างใด แต่จะเน้นอธิบายเรื่องอุปนิสัยและการกระทำภายนอก ซึ่งภาพของปีศาจส่วนใหญ่ที่เราเห็นก็จะมาจากการตีความทางศิลปะและวัฒนธรรมตามยุคสมัยนั้น ๆ ไม่ใช่คำอธิบายโดยตรงจากคัมภีร์

ถึงอย่างนั้นก็มีภาพหนึ่งที่หลาย ๆ คนคุ้นเคยกันดี ก็คือ ปีศาจหัวแพะ (Goat-headed demon)

ปีศาจ

แท้จริงแล้วรูปลักษณ์นี้ไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิล แต่มาจากตำนานโบราณต่าง ๆ ที่นำมาผูกโยงกัน ผสมกับการตีความทางศิลปะของแต่ละยุคสมัย จนได้เป็นรูปลักษณ์ปีศาจหัวแพะดังที่เราเห็นกัน และกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำลัทธิซาตานอย่างที่รู้กันนั่นเอง

ถึงอย่างนั้นก็มีหลายความเชื่อเกี่ยวกับที่มาของปีศาจหัวแพะที่น่าสนใจ ดังนี้

  • สัญลักษณ์ของปีศาจ

ตำนานแรก เชื่อว่าหัวแพะมีที่มาจาก ปีศาจบาโฟเมต (Baphomet)

ในปี ค.ศ. 1856 มีศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง นามว่า ‘เอลีฟาส เลอวี (Eliphas Lévi)’ ได้ตีความรูปลักษณ์ของบาโฟเมตออกมาเป็นครึ่งคนครึ่งแพะ อันสื่อถึงสองขั้วตรงข้ามในจักรวาลและความสมดุล เช่น ความเลว-ความดี ความมืด-แสงสว่าง เป็นต้น

ปีศาจ

ภาพ ปีศาจบาโฟเมต (Baphomet) วาดโดย ‘เอลีฟาส เลอวี (Eliphas Lévi)’

ก่อนภาพนี้จะได้รับความนิยมอย่างมากจนยึดถือเป็นรูปลักษณ์ของปีศาจที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพระเจ้า กระทั่งแผ่อิทธิพลไปเรื่อย ๆ สู่วัฒนธรรมป็อบ และเป็นภาพจำมาจนถึงปัจจุบัน

  • อิทธิพลจากอียิปต์โบราณ

ตำนานหนึ่งที่มีความเป็นไปได้สูงคือปีศาจหัวแพะอาจมีที่มาจากตำนานเทพเจ้าอียิปต์ นามว่า บาเน็บเดเด็ต (Banebdjedet) เทพเจ้าที่มีเศียรเป็นแพะและมีร่างกายเป็นมนุษย์

ปีศาจ

บาเน็บเดเด็ตเป็นเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ การฟื้นฟู และชีวิตหลังความตาย จึงเป็นไปได้ว่าอาจส่งอิทธิพลต่อแนวคิดของรูปลักษณ์ปีศาจในภายหลัง

  • เจ้าแห่งตัณหา

อีกตำนานหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน คืออิทธิพลจากเทพเจ้ากรีก แพน (Pan)

ปีศาจ

แพนเป็นเทพที่มีร่างกายส่วนล่างเป็นแพะ ร่างกายส่วนบนเป็นมนุษย์ มีนิสัยเจ้าชู้ เจ้าคารม ด้วยความตัณหาจัดมากราคะ ทำให้แพนถูกนำมาเชื่อมโยงกับปีศาจนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ภาพปีศาจหัวแพะก็เป็นเพียงศิลปะที่ถูกตีความจากศิลปินเท่านั้น ไม่มีใครรู้ว่าหน้าตาที่แท้จริงของปีศาจเป็นอย่างไร เขาอาจจะเหมือนกับภาพที่คุณจินตนาการไว้ในหัว หรืออาจจะไม่เหมือนเลยก็ได้

แต่นอกจากศาสนาคริสต์แล้ว ฉันยังอยากยกตัวอย่างจากศาสนาพุทธมาให้ได้ลองอ่านกันดูค่ะ ถึงแม้ว่าจะไม่มีการกล่าวถึงรูปลักษณ์ของปีศาจเช่นเดียวกับศาสนาคริสต์ แต่ในพระไตรปิฎกก็ยังมีข้อความบางตอนที่พูดถึงมารซึ่งได้มาปรากฏตัวต่อหน้าพระพุทธเจ้าในรูปลักษณ์ต่าง ๆ หลายต่อหลายครั้ง ก็เป็นอีกความรู้หนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ เลยนะคะ

ศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้นมีความเชื่อมโยงกัน จึงมีการตีความปีศาจคล้าย ๆ กัน คือมีหน้าตาคล้ายยักษ์ รูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ตัวใหญ่ดุดัน และแปลงกายได้

ปีศาจ

หน้าตาอสูร หรือปีศาจในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ภาพสลักหิน ‘อสุรินทราหู’ อสูรผู้สร้างตำนานสุริยุปราคาและจันทรุปราคา ในมือถือเสี้ยวพระจันทร์และเสี้ยวพระอาทิตย์ เป็นศิลปะอินเดียสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 ค้นพบที่เทวสถานพระอาทิตย์โกณารัก : ภาพจากพิพิธภัณฑ์อังกฤษ

ปีศาจ

หน้าตาพญามาร หรือปีศาจในศาสนาพุทธ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตอนมารวิชัย แสดงภาพพญามารและเหล่าบริวารปีศาจที่รายล้อมซ้าย-ขวาของพระพุทธเจ้า มีพระแม่ธรณีบิดมวยผมอยู่ใต้รัตนบัลลังก์เพื่อเป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญเพียรของพระพุทธองค์ และมีเหล่าเทวดาอำนวยพรอยู่เบื้องบน : ภาพจากวัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง)

ในพระไตรปิฎกบางพระสูตร กล่าวว่า ปีศาจหรือมารนั้นมีทั้งที่แบบมีตัวตน สามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ พระ พราหมณ์ ชาวนา หรือแม้แต่สิงสาราสัตว์อย่างช้าง งู วัว ได้ แล้วยังมีมารที่ไม่มีรูปร่าง เช่น มารที่เป็นความตาย (มัจจุมาร), มารที่เป็นเทพบุตร (เทวปุตตมาร) และ กิเลสมาร ด้วย เป็นต้น

ยกตัวอย่างจากพระไตรปิฎกที่มีการพูดถึงมารปีศาจมาให้ทุกคนได้อ่านกัน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมารที่สามารถจำแลงกายได้

เนื้อหาใน พระสุตตันตปิฎก กัสสกสูตร (ส .ส. 15/155/196) กล่าวถึงลักษณะของร่างแปลงว่า มารจำแลงตนเป็นชาวนาแบกคันไถใหญ่ ถือปฏักด้ามยาว มีผมยาวรุงรังปรกหน้าปรกหลัง นุ่งผ้าเนื้อหยาบ มีเท้าทั้งสองข้างเปื้อนโคลน มารเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับแล้วทูลถามว่า พระองค์เห็นโคของข้าบ้างหรือไม่

ซึ่งมารปีศาจในตอนนั้นไม่ได้มีความต้องการให้พระพุทธเจ้าเกิดความหวาดกลัวแต่อย่างใด และเนื้อหาที่ทั้งสองฝ่ายสนทนากันก็เกี่ยวกับหลักธรรมเรื่อง อายตนะ 6 ที่ทำให้เกิดกิเลส (อายตนะ 6 ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)

ตอนหนึ่งใน พระสุตตันตปิฎก มารธีตุสูตร (ส .ส. 15/161/210) ได้ระบุชื่อและเพศของมารไว้ชัดเจน ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินเรื่อง ธิดาพญามาร ทั้งสามตนนี้มาก่อนแล้ว

คัมภีร์ได้กล่าวถึงธิดาของ พญาวสวัตตีมาร สามตน นามว่า นางตัณหา นางอรดี และ นางราคา ที่ได้ใช้ร่างกายงดงามของสตรีเพศของตน มายั่วยวนพระพุทธองค์หลังจากท่านตรัสรู้แล้ว

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพระสูตรที่กล่าวถึงพญามารซึ่งจำแลงกายมาเป็นสัตว์ร้ายตัวใหญ่ เพื่อให้พระพุทธองค์หวาดกลัว เช่น

พระสุตตันตปิฎก นาคสูตร (ส .ส. 15/138/176) เล่าถึงมารจำแลงตนเป็นพญาช้างใหญ่ มีศีรษะเหมือนก้อนหินยักษ์สีดำสนิท มีงาทั้งสองสีเงินยวง มีงวงเหมือนงอนไถใหญ่

ปีศาจช้าง

พระสุตตันตปิฎก สัปปสูตร (ส .ส. 15/181/196) เล่าถึงมารจำแลงตนเป็นพญางูใหญ่เท่าลำเรือที่ขุดด้วยซุงทั้งต้น พังพานเหมือนเสื่อลำแพนผืนใหญ่สำหรับปูของช่างทำสุรา นัยน์ตาเหมือนถาดสำริดใบใหญ่ของพระเจ้าโกศล ลิ้นของมันแลบออกจากปากเหมือนสายฟ้าแลบขณะเมฆกำลังกระหึ่มร้อง เสียงหายใจเข้าออกของมันเหมือนเสียงเครื่องสูบของช่างทองที่กำลังพ่นลม

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนจากสองศาสนาเท่านั้นที่ฉันหยิบยกมา ก็ไม่แน่ว่า หากค้นหาลึกละเอียดกว่านี้ อาจจะพบบางศาสนาที่มีคำอธิบายเรื่องรูปลักษณ์ของปีศาจอย่างชัดเจนก็ได้นะคะ

หากจะพูดในมุมมองของฉันบ้าง เกี่ยวกับรูปลักษณ์ของปีศาจ ปีศาจมักจะถูกมองว่าน่าเกลียดน่ากลัว แต่หากพิจารณาดี ๆ ปีศาจนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อล่อลวงมนุษย์ให้หลงผิด ละเลย ละทิ้ง และดื้อรั้น ซึ่งสิ่งที่จะล่อตาล่อใจมนุษย์ได้มากที่สุดก็คือความสวยงามไม่ใช่เหรอ

น่าคิดนะคะ ว่าปีศาจที่แท้จริงอาจจะไม่ได้น่าเกลียดน่ากลัวอย่างที่จินตนาการก็ได้ แต่กลับกันเลย คืองดงาม หล่อเหลา เสน่ห์แรงเกินห้ามใจ ถึงขั้นมอมเมาให้มนุษย์หลงลืมสติสัมปชัญญะและสิ่งที่ควรจะทำได้ ก็คงไม่ใช่อะไรธรรมดาแล้วนะคะ

ดูอย่างธิดาพญามารทั้งสามตนนั้นที่มาล่อลวงพระพุทธเจ้า ก็มีร่างกายงดงามยั่วยวนเช่นกัน แต่นั่นคือพระศาสดาที่ละทางโลกได้แล้วจึงไม่หวั่นไหวนี่นา ถ้าเป็นคนธรรมดาอย่างเรา ๆ จะอดใจไหวงั้นเหรอคะ โดยเฉพาะหนุ่ม ๆ น่ะ

อยากได้… ต้องขายวิญญาณ

วิธีขายวิญญาณให้ปีศาจ

พลังอำนาจของปีศาจ

ปีศาจเป็นตัวแทนของความชั่วร้ายและการล่อลวงมนุษย์ให้ทำบาป ขัดขืนต่อคำสั่งสอนจากพระเจ้า ว่ากันว่าพลังอำนาจของปีศาจนั้นเข้มขลังอย่างยิ่ง

ปีศาจให้พรได้ สร้างชีวิตใหม่ให้มนุษย์ได้ แต่ก็ทำให้เกิดเรื่องร้าย ๆ ได้ด้วย และหากมีพันธะสัญญาร่วมแล้ว ปีศาจก็สามารถอ้างพันธะนั้นมาเก็บหนี้เป็นดวงชีวิตได้เช่นกัน

แต่ไม่ว่าพลังอำนาจของปีศาจจะมหาศาลเพียงใด ตำนานก็กล่าวว่าพลังของปีศาจนั้นยังด้อยกว่าพลังของพระเจ้าอยู่ดี เพราะพลังของพระเจ้าสมบูรณ์ไร้ขีดจำกัด ทว่าพลังของปีศาจนั้นมีลิมิต

แล้วทำไมบางคนยังเลือกจะทำสัญญากับปีศาจ ทั้ง ๆ ที่ขอพรจากพระเจ้าได้ ?

คำตอบนั้นคือ… เพราะพรของมนุษย์คือกิเลสชั้นยอด !

และกิเลส ก็เปรียบเสมือนของหวานของเหล่าปีศาจ

พระเจ้าหรือเทพใฝ่ดีทั้งหลายล้วนให้พรในสิ่งที่คุณปรารถนา โดยมีข้อแม้

ท่านจะให้พรก็ต่อเมื่อพรนั้นส่งเสริมให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้น มีโอกาสทำความดีมากขึ้น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น โดยที่ท่านไม่ได้ต้องการสิ่งใดตอบแทนเป็นพิเศษเลย

ขณะที่ปีศาจสามารถทำ ทุก ความปรารถนาของคุณให้สำเร็จได้ โดยไม่เกี่ยง

ขอเพียงของตอบแทนที่แพงพอ ๆ กับชีวิตคุณ

ปีศาจเมฟิสโตฟิลิส (Mephistopheles)

ภาพวาดของ เฟาสต์ หรือ เฟาตุส (Faust, Faustus) ตัวเอกจากนิทานเยอรมัน ที่ทำสัญญากับ ปีศาจเมฟิสโตฟิลิส (Mephistopheles) เพื่อแลกกับองค์ความรู้ วาดโดย อดอล์ฟ กนาวต์ (Adolf Gnauth) ราวปี ค.ศ. 1840

วิธีขายวิญญาณให้ปีศาจ

ข้อมูลในส่วนนี้ฉันขอนำเสนอในรูปแบบของความรู้เท่านั้นนะคะ ไม่ได้มีเจตนาชี้นำผู้ใดให้ทดลองหรือทำตาม เพราะอาจเป็นอันตรายได้

ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเยาวชนที่กำลังอ่านอยู่ คิดซะว่านี่เป็นเพียงนิทานที่ฉันนำมาเล่าให้ฟังเท่านั้น อ่านให้สนุก และใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลด้วยนะคะ

1.ติดต่อกับมิติลี้ลับ

สิ่งแรกที่ควรตระหนักก่อนจะเริ่มทำพันธะสัญญากับปีศาจ คือ คุณต้องเข้าใจก่อนว่าการติดต่อกับสิ่งลี้ลับในมิติทับซ้อน ไม่ใช่เรื่องง่าย

ไม่อย่างนั้นเราคงติดต่อกับดวงวิญญาณหรือมนุษย์ต่างดาวได้ไปแล้ว ฉะนั้น ใช่ว่าคุณลองทำตามทุกวิธีที่ฉันบอกแล้วพันธะสัญญานี้จะเสร็จสมบูรณ์

2. ปีศาจไม่ได้มีตนเดียวในโลก

แล้วแต่ละตัวตนยังมีความถนัดหรือบาปแตกต่างกันด้วย เช่น 

  • ลูซิเฟอร์ (Lucifer) ปีศาจแห่งความหยิ่งยโส หลงตัวเองมากเกินไป อยากจะดีเด่นเกินผู้อื่น
  • แมมมอน (Mammon) ปีศาจแห่งความโลภ เห็นแก่ตัว ลุ่มหลงในทรัพย์สินเงินทอง
  • เบลเซบับ (Beelzebub) ปีศาจแห่งความตะกละ เสพสุขอย่างไม่ยั้งคิด สนองความต้องการของตนเองอย่างไม่รู้จักพอ และไม่สนใจผิดถูกว่าของตนเองหรือของใคร

หากคุณจะเริ่มทำพันธะสัญญากับปีศาจ คุณอาจเลือกปีศาจที่มีบาปหรือความถนัดตรงกับความปรารถนาของคุณก่อน เพื่อติดต่อแลกเปลี่ยนกับเขา

หากแต่… คุณก็รู้นี่นาว่าปีศาจน่ะเป็นจอมหลอกลวง คุณจะรู้ได้ยังไงว่าติดต่อกับปีศาจถูกตน ไม่ใช่ใครอื่นที่บังเอิญหิวกระหายและอยู่แถวนั้นพอดี ถ้าเขาบอกคุณว่าเป็นใคร คุณจะเชื่อเขาได้จริง ๆ เหรอ

The Pilgrim's Progress ของ จอห์น บันยัน (John Bunyan)

ภาพเบลเซบับกับเหล่าปีศาจกำลังยิงธนู ภาพจาก The Pilgrim’s Progress ของ จอห์น บันยัน (John Bunyan) ค.ศ. 1678

3. สร้างพันธะสัญญา

หลังจากติดต่อกับปีศาจได้แล้ว สิ่งที่คุณต้องเข้าใจอีกเรื่องคือ ไม่ว่าโลกวิญญาณหรือโลกมนุษย์ก็ดี ทุกภพภูมิทำงานเหมือน ระบบราชการ ที่ต้องใช้เอกสารประกอบ

แต่มิติวิญญาณจะต่างจากโลกมนุษย์ตรงที่ พวกเขายึดถือคำพูดมาก แค่เปรยสั้น ๆ ก็อาจกลายเป็นพันธะสัญญาที่มีผลทางศาลสวรรค์หรือศาลปีศาจได้

พันธะสัญญาที่คุณทำ บางตำนานก็บอกว่าคุณสามารถ อธิษฐานด้วยแรงจิตถึงปีศาจ ได้

บางตำนานก็บอกว่า ต้องเขียนความปรารถนาของตนเองใส่กระดาษ แล้วนำไปฝังดินที่ทางสามแพร่งหรือสี่แพร่ง ของถนนที่มีหมายเลข 6 โดยไม่จำเป็นต้องเขียนข้อแลกเปลี่ยนใด

เพราะเมื่อถึงเวลา… ปีศาจจะมาเอาสิ่งที่ต้องการจากคุณเอง

เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ ฉันคิดว่าอาจจะมีบางคนที่อยากจะลองขายวิญญาณให้กับปีศาจดูเล่น ๆ แต่โดยส่วนตัว ฉันไม่คิดว่าคุ้มค่าเท่าไหร่ เพราะอย่างที่รู้กัน ปีศาจเป็นจอมหลอกลวงและมักเล่นแง่กับความโลภของมนุษย์เสมอ

จากประวัติของศิลปินหลายท่านที่ขายวิญญาณให้ปีศาจ ปีศาจมักจะปล่อยให้มนุษย์ดื่มด่ำกับความสำเร็จอย่างเต็มที่ไปชั่วระยะ

และในตอนที่คุณขึ้นถึงจุด สูงงง สุด ปีศาจก็จะฉุดคุณลงมายังขุมนรกและแผดเผาคุณทั้งเป็น เขาให้ชีวิตคุณได้ เขาก็พรากมันไปได้เช่นกัน

ถ้าฉันเป็นปีศาจฉันก็คงจะสนุกกับวิธีการทรมานใจคนแบบนี้ ปล่อยให้คุณเสียดาย นั่งคิดถึงชีวิตที่เคยรุ่งโรจน์ก่อนจะตายมาชดใช้หนี้ในนรก

ภาพสัญญามารอันเป็นลายลักษณฺอักษร ไม่ทราบที่มา

ภาพสัญญามารอันเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ทราบที่มา

หลักฐานว่าปีศาจมีจริง !?

แม้ใครจะบอกว่าปีศาจเป็นเพียงความเชื่อลึกลับทางศาสนา ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้พอ ๆ กับเรื่องภูตผีวิญญาณ เป็นอุปาทานที่อาจคิดไปเอง

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีตำนานหรือเรื่องเล่าบางเรื่องที่กล้าพูดถึงการปรากฏตัวอย่างชัดเจนของปีศาจ

หนำซ้ำยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นร่องรอยลึกลับให้เราได้สงสัยถึงความจริงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

เมื่อพวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีศาจเป็นคนทำ

  • โคเด็กซ์ กิกาซ (Codex Gigas)

คัมภีร์ที่เชื่อว่าเขียนขึ้นโดยปีศาจ

 โคเด็กซ์ กิกาซ (Codex Gigas)

โคเด็กซ์ กิกาซ คือคัมภีร์ไบเบิลที่เขียนขึ้นในยุคกลาง (ค.ศ. 500-1500) และได้ชื่อว่าเป็น คัมภีร์ไบเบิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า คัมภีร์ปีศาจ

ที่มาของชื่อคัมภีร์ปีศาจนั้น มาจากหน้าหนึ่งในคัมภีร์ที่มีรูปปีศาจขนาดใหญ่วาดไว้ และภาพนี้เอง ที่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานลึกลับ

เรื่องมีอยู่ว่า ในช่วงยุคกลางมีนักบวชนอกรีตผู้หนึ่งถูกศาสนจักรจับตัวไว้ เนื่องจากเขาละเมิดคำปฏิญาณของโบสถ์ จึงมีโทษฝังทั้งเป็นในกำแพง

ฝ่ายนักบวชนอกรีตที่ยังไม่อยากตาย ความกดดันจนสติเลอะเลือนทำให้เขาอ้อนวอนออกมาพล่อย ๆ ว่า

ข้าขอทำสัญญาแลกเปลี่ยนกับโทษประหารนั้น ด้วยการเขียนพระคัมภีร์ไบเบิลเพื่อเทิดทูนคริสตจักร และเผยแพร่ความรู้แก่มวลมนุษยชาติให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งคืน

แน่นอนว่า… ก็คนกำลังจะตาย ให้ทำอะไรแลกก็ยอม

เมื่อคริสตจักรยอมรับข้อเสนอ เขาก็เริ่มลงมือเขียนคัมภีร์ไบเบิลขึ้นมาทันที เวลาเริ่มขยับใกล้เส้นตายของวันใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับใจที่ตกไปอยู่ตาตุ่ม

และผลก็เป็นไปตามคาด คำสอนนั้นมีมากมายมหาศาลชนิดที่ว่า คนธรรมดาไม่อาจทำเสร็จภายในหนึ่งคืนได้แน่ ๆ

เมื่อตระหนักรู้ถึงความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เขาจึงเริ่มสวดอ้อนวอน แต่แทนที่จะส่งคำร้องไปถึงสวรรค์ เขากลับส่งมันดิ่งลงสู่ขุมนรก ไปถึงโสตประสาทของจอมปีศาจแทน

ได้โปรดเถิด โปรดช่วยให้ข้าสร้างคัมภีร์เล่มนี้ให้สำเร็จ ข้าขอแลกมันกับดวงวิญญาณของข้าเอง

ทันใดนั้น ปีศาจก็ปรากฏกาย ! และตอบรับคำร้องขอนั้นของเขา

ปีศาจได้ช่วยเขาเขียนพระคัมภีร์นี้จนสำเร็จ ก่อนที่นักบวชจะได้เพิ่มรูปภาพของปีศาจไว้ในหน้าหนึ่ง เพื่อเป็นการขอบคุณสำหรับความช่วยเหลืออันยิ่งใหญ่นี้

โคเด็กซ์ กิกาซ (Codex Gigas)

แม้นักโบราณคดีที่ได้อ่านคัมภีร์เล่มนี้แล้วจะกล่าวว่า เนื้อหาทั้งหมดในเล่มเป็นเพียงคัมภีร์ไบเบิลธรรมดา หากแต่ก็มีจุดน่าสนใจบางอย่างที่บอกยากว่าเป็นฝีมือมนุษย์ธรรมดาอย่างเรา ๆ

นั่นคือ อย่างที่เห็นว่าคัมภีร์เล่มนี้หนาและใหญ่มากจนได้ชื่อว่าเป็นคัมภีร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื้อหาในเล่มนั้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปีเลยทีเดียว เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดและเรียบเรียงเขียนขึ้นมาใหม่เป็นหนังสือเล่มนี้

อย่างที่สอง ลายมือที่ใช้เขียนนั้นเป็นลายมือที่ประณีตบรรจงมาก ตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย

โคเด็กซ์ กิกาซ (Codex Gigas)

ลายมือที่ใช้เขียนในเล่ม จะบรรจงอย่างนี้ตั้งแต่หน้าแรกไปจนหน้าสุดท้าย

หากอธิบายตามหลักความเป็นจริง เวลาที่เราเขียนหนังสือ แค่เขียนไปไม่กี่บรรทัดก็จะเริ่มปวดหรือเมื่อยมือแล้ว ทำให้ตัวหนังสือเปลี่ยนไป หรือบางครั้งที่เราเขียนโดยใช้อารมณ์ อารมณ์วันนี้เป็นแบบหนึ่ง ลายมือก็เป็นแบบหนึ่ง พรุ่งนี้อารมณ์เปลี่ยน ลายมือก็เปลี่ยนแล้ว

หากแต่ในคัมภีร์โคเด็กซ์ กิกาซ ลายมือนั้นสวยงามราวกับว่าผู้เขียนไม่ได้สื่ออารมณ์ใด ๆ ผ่านตัวอักษรออกมาเลย

ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นนักโทษประหารที่ต้องรีบเขียนคัมภีร์ให้เสร็จภายในคืนเดียว อีกอย่าง เขายังเป็นผู้นับถือศาสนานอกรีต ไม่ได้ยึดมั่นในคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าที่ปรากฏในคัมภีร์เลยด้วยซ้ำ เขาจะตั้งใจเขียนขนาดนั้นไปเพื่ออะไร

ตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงบรรทัดสุดท้าย ช่างน่าอัศจรรย์ราวกับไม่ใช่ฝีมือมนุษย์

  • คฤหาสน์ลอฟตัส (The Loftus Hall)

บ้านผีสิงที่เฮี้ยนที่สุดในไอร์แลนด์

 เรดมอนด์ ฮอลล์ (Redmond Hall)

คฤหาสน์ลอฟตัส ตั้งอยู่บริเวณคาบสมุทรฮุก เมืองเว็กซ์ฟอร์ด ประเทศไอร์แลนด์

ที่แห่งนี้เคยเป็นที่ดินของ เรย์มอนด์ หรือ เรดมอนด์ ฟิตซ์เจรัลด์ (Raymond or Redmond FitzGerald) เขาได้สร้างคฤหาสน์ชื่อ เรดมอนด์ ฮอลล์ (Redmond Hall) ขึ้นมา ในช่วงไข้กาฬโรคระบาด (ค.ศ.1347-1351) เพื่อทดแทนปราสาทหลังเก่าที่เริ่มทรุดโทรมลงแล้ว

ตระกูลเรดมอนด์ถือครองที่ดินผืนนี้นานถึง 310 ปี ก่อนจะขายที่ให้กับ ครอบครัวลอฟตัส (Loftus) และได้เปลี่ยนชื่อคฤหาสน์เป็น คฤหาสน์ลอฟตัส ดังเช่นปัจจุบัน

เรื่องราวเริ่มต้นในคืนหนึ่งที่พายุฝนโหมกระหน่ำ เมื่อปี ค.ศ. 1775

ในคืนนั้นสมาชิกคนอื่น ๆ ไม่อยู่คฤหาสน์ ในคฤหาสน์มีเพียงคุณพ่อชื่อ ชาร์ลส์ ท็อตแนม (Charles Tottenham) แม่เลี้ยงชื่อ เจน คลิฟฟ์ (Jane Cliffe) และลูกสาวของบ้านชื่อ แอนน์ (Anne)

ตระกูล ลอฟตัส (Loftus)

ภาพคนในตระกูล ลอฟตัส (Loftus) ไม่ทราบชื่อ

ท่ามกลางพายุรุนแรง มีเรือลำหนึ่งปรากฏขึ้นที่ชายฝั่งใกล้คฤหาสน์ ชาร์ลส์เห็นชายเจ้าของเรือกำลังต้องการความช่วยเหลือจึงมีน้ำใจช่วย โดยการเปิดประตูบ้านต้อนรับเขาเข้ามาหลบพายุ

ชายปริศนาผู้นั้นได้พักพิงอยู่ในคฤหาสน์หลายต่อหลายคืนจนเริ่มสนิทสนมกับแอนน์ขึ้นเรื่อย ๆ

พวกเขามักจะเชื่อมสัมพันธ์กันด้วยเกมไพ่ง่าย ๆ และดูเหมือนว่าทั้งสองจะมีใจให้กัน

กระทั่ง ในคืนหนึ่งที่ทั้งคู่นั่งเล่มเกมไพ่ด้วยกันเหมือนอย่างเคย จังหวะนั้นเอง แอนน์ก็เผลอทำไพ่ร่วงลงพื้น เธอรีบก้มตัวลงไปหยิบอย่างรวดเร็ว ทว่า… สายตาก็พลันเหลือบไปเห็นบางอย่างที่ไม่ควรจะเห็นเข้า

เมื่อชายปริศนาที่เธอเผลอมีใจให้เขาไปหยก ๆ ดันมี กีบเท้า ! แทนที่จะเป็นเท้ามนุษย์ !

เหมือนว่าเขาคนนั้นก็เพิ่งจะรู้ตัวเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ตำนานเล่าว่า ทันใดนั้นชายผู้นั้นก็กลายร่างเป็นดวงไฟ แล้วพุ่งทะลุออกจากหน้าต่างไปต่อหน้าต่อตาแอนน์ทันที

ว่ากันว่า เหตุการณ์เหนือธรรมชาตินี้ทำให้แอนน์ช็อกจนสติหลุดขวัญกระเจิง เธอเกิดอาการป่วยทางจิตอย่างรุนแรง ขังตัวเองอยู่ในห้องผู้เดียว ปฏิเสธอาหารและการดูแลทุกรูปแบบ 

เธอเอาแต่นั่งกอดเข่า สายตาเหม่อลอยจ้องมองไปนอกหน้าต่างราวกับรอคอยการกลับมาของใครบางคน จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 มีบันทึกว่าเธอเสียชีวิตในท่านั่งกอดเข่าจริง ๆ จนศพไม่สามารถยืดเหยียดแขนขาออกมาเพื่อจัดท่าทางได้ จึงจำเป็นต้องฝังศพในท่านั้น

และหลังจากนั้น เรื่องราวนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความหลอนมากมายในคฤหาสน์ จนได้ชื่อว่า เป็นบ้านผีสิงที่เฮี้ยนที่สุดในไอร์แลนด์

*

การเขียนเรื่องปีศาจนั้นทั้งสนุก ตื่นเต้น ฉันเองก็พยายามเขียนในมุมมองคนกลางที่ไม่มีอคติว่าคุณปีศาจเป็นคนไม่ดีแต่อย่างใด เพราะคุณปีศาจก็ทำหน้าที่ของเขาเอง แถมยังทำหน้าที่ดีซะด้วย !

ก็อย่างว่า มารไม่มี บารมีไม่เกิด แม้แต่ตอนที่ฉันเขียนก็ยังสัมผัสได้ถึงพลังของคุณปีศาจเลยค่ะ

เขาอาจมาปรากฏกายอยู่ข้าง ๆ ชี้นำให้ฉันไปเจอข้อมูลดี ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนอย่างเรื่อง คฤหาสน์ลอฟตัส หรือเจอเรื่องปีศาจในหนังสือที่ฉันตัดใจไปแล้วว่าคงไม่มีเรื่องปีศาจในนี้แน่ ๆ แต่ก็ดันบังเอิญไปเจอหน้าของคุณปีศาจเข้าแบบงง ๆ

แต่นอกจากมาชี้นำแล้ว ใช่คุณปีศาจอีกเหมือนกันไหมนะ ที่ทำให้ฉันขี้เกียจตัวเป็นขนขนาดนี้!!! แต่สุดท้ายก็เข็นตัวเองจนทำเสร็จได้แล้วสิน่า~ บารมีฉันเกิดหรือยังนะ

มาลินทร์, แม่มดฝึกหัด -บรรณารักษ์-

*

บรรณานุกรม

  • พระมหาทวิชัย จินา. (2565). การศึกษาเปรียบเทียบภาพสะท้อนของมารในพุทธศาสนาเถรวาทกับซาตานในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก. คณะพุทธศาสนา : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน. เรียบเรียงโดย สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร. (2555). คุตบะห์วันศุกร์ : “อิบลีส” ผู้นำของบรรดาผู้ก่อความพินาศ. สืบค้นจาก : www.islamicbangkok.or.th
  • The British Museum. Figure (Rahu). สืบค้นจาก : www.britishmuseum.org
  • Jehovah’s Witnesses. What Does the Devil Look Like?. สืบค้นจาก : www.jw.org
  • Satan. สืบค้นจาก : www.britannica.com
  • รู้จักบาโฟเมต ซาตานในร่างแพะผู้ต่อต้านพระเจ้า. สืบค้นจาก : documentaryclubthailand.com
  • นาทนาม ไวยหงษ์. (2563). ตำนานเรื่องเล่าชวนขนหัวลุกของ ‘Loftus Hall’ บ้านผีสิงสุดเฮี้ยนแห่งไอร์แลนด์. สืบค้นจาก : www.gqthailand.com

Loading

ผู้เขียน

  • Malyn

    แม่มดฝึกหัดตัวน้อย ผู้หลงใหลในเรื่องลึกลับสุดหัวใจ

    View all posts