แฟรี่

แฟรี่

ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด เราก็มักจะได้ยินเรื่องราวของเหล่าแฟรี่ (Fairy) ในตำนานพื้นบ้านอยู่เสมอ

แต่เหล่าแฟรี่ที่พูดถึงนี้ ใช่เพียงภูตนางฟ้าที่มีปีกตัวน้อย ๆ เท่านั้น ความจริงแล้วเหล่าแฟรี่ มีญาติ ๆ มากมายหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งพวกเอลฟ์ (Elf) พิกซี (Pixie) อิมป์ (Imp)  โนมส์ (Gnomes)  และก็อบลิน (Goblin) จอมซน 

ว่ากันว่า สิ่งมีชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังและเสน่ห์ลึกลับเหล่านี้อยู่ร่วมโลกเรามานาน แสนนนนน นานตั้งแต่โบราณกาลแล้ว

นาน แสนนนนน นานกว่าที่เราจะจินตนาการถึง

นาน แสนนนนน นาน ก่อนมนุษย์คนแรกจะถือกำเนิดเสียด้วยซ้ำ

ตำนานแฟรี่บางเรื่องเชื่อว่าพวกเขาคือเทพารักษ์แห่งโลกธรรมชาติ มีหน้าที่คอยปกปักรักษาต้นไม้ ก้อนหิน แม่น้ำ และสัตว์ป่าจากภยันตราย

เชื่อว่าพวกเขาสถิตอยู่ในจอมปลวก ถ้ำ เหมือง หรือแม้แต่ใต้บาดาล บางตำนานยังกล่าวว่า มีเหล่าแฟรี่สถิตอยู่ในบ้านของเราด้วย พวกเขาอาจคอยช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือแม้แต่ก่อกวนคนในบ้านให้เกิดเรื่องยุ่งเหยิงสารพัด !

แฟรี่คืออะไร ?

คิดใช่ไหมว่า แฟรี่คือสิ่งมีชีวิตตัวเล็กสุดมหัศจรรย์ ติดปีกวิบวับ สวมชุดที่ทำจากใบไม้ใบหญ้า และอาศัยอยู่กลางดงดอกไม้

คุณคงจะรับรู้เรื่องราวทำนองนี้มาจากหลากหลายเรื่องเล่า ซึ่งแฟรี่บางเผ่าพันธุ์ก็เป็นแบบนี้จริง ๆ นะ หากแต่… หลายเผ่าพันธุ์ก็ไม่ใช่

เหล่าแฟรี่น่ะมีทั้งวัยเด็ก วัยชรา มีผู้ชาย ผู้หญิง มีตัวเล็ก และตัวใหญ่เท่ามนุษย์ ถ้าคุณจินตนาการว่าพวกเขาตัวจิ๋ว พวกเขาก็อาจจะจิ๋วได้เล็กจ้อยยิ่งกว่ามดซะอีก

แฟรี่นั้นยังมีทั้งพวกที่หน้าตาสะสวย หรือน่าเกลียดขั้นสุด บางเผ่าพันธุ์ก็มีปีกบาง ๆ แต่บางเผ่าพันธุ์ก็มีเพียงสองเท้าที่ใช้เที่ยวเตร่ไปทั่วผืนป่าอย่างพวกโนมส์กับก็อบลิน

ก็อบลินตกปลา

(ก็อบลิน (Goblin) ที่ชอบมานั่งริมลำธาร)

ระวังนะ !

แม้เหล่าแฟรี่จะชอบช่วยเหลือและใจดี ก็จงอย่าลืมว่า พวกเขาน่ะมีเวทมนตร์

ถ้าทำดีด้วย พวกเขาก็จะนำโชคดีมาให้ พวกเขาอาจมอบปัญญา หรือคอยช่วยงานบ้านอย่างลับ ๆ

แฟรี่ที่ใจดีอาจช่วยเด็ก ๆ ที่กำลังหลงทางกลางป่าให้กลับออกมาอย่างปลอดภัย คอยมอบพรให้สมปรารถนา หรือช่วยดูแลพืชพรรณในสวนให้เติบโตแข็งแรง

แต่ใครก็ตามที่ไปยุ่มย่ามกับเหล่าแฟรี่ที่เป็นอันตรายเข้า เมื่อนั้นอาจเริ่มเกิดเรื่องประหลาดขึ้นมาได้ !

จู่ ๆ สิ่งของอาจหายไป ได้ยินเสียงรบกวนแปลก ๆ ยามค่ำคืน หรือหลงทางอยู่ในป่าอย่างสิ้นหวัง

ฉะนั้น ! จงเคารพธรรมชาติไว้ และเดินให้เบาอยู่เสมอ เพราะไม่แน่ว่า… เหล่าแฟรี่อาจอยู่แถวนี้ !

แฟรี่ดอกไม้

(แฟรี่ (Fairy) ตัวเล็กจ้อย คุณอาจมองไม่เห็นพวกเขาที่แฝงตัวอยู่ตามพุ่มดอกไม้ด้วยซ้ำ)

อุปนิสัยของเหล่าแฟรี่

สันโดษ หรือ รวมกลุ่ม ?

เหล่าแฟรี่นั้นมีทั้งที่ชอบอยู่อย่างสันโดษ และชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มแก๊ง

ถ้าเป็นแฟรี่แบบกลุ่ม ก็มักปรากฏตัวพร้อมกันเป็นกลุ่มก้อน สังสรรค์รื่นเริงด้วยกัน เดินทางไปไหนมาไหนด้วยกัน ขณะที่แฟรี่รักสันโดษก็จะอยู่เพียงลำพังตนเดียว

อย่างเรื่องราวของ ทิลวีท์ เท็ก (Tylwyth Teg) แฟรี่ในตำนานพื้นบ้านของประเทศเวลส์ เป็นแฟรี่ที่ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พวกเขาชอบเล่นดนตรีด้วยกัน และเต้นรำเป็นวงกลม นำขบวนโดยราชันแฟรี่ที่ชื่อว่า กวิน อัป นีดด์ (Gwyn ap Nudd)

ส่วนเหล่าเอลฟ์บ้านอย่าง โดโมวอย (Domovoy) ของประเทศยูเครน ถือเป็นแฟรี่รักสันโดษถ้ามีโดโมวอยอาศัยอยู่ในบ้านหรือฟาร์มของคุณล่ะก็ คุณจะเห็นเขาอยู่เพียงลำพังเสมอ

แฟรี่เต้นรำ

(เหล่า ทิลวีท์ เท็ก (Tylwyth Teg) ที่มักรวมกลุ่มกันเต้นรำเสมอ)

น่ารัก หรือ โหดร้าย ?

เหล่าแฟรี่ก็มีทั้งดีและแย่เหมือนกับมนุษย์ เช่นแฟรี่ผู้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างพวกเอลฟ์และโนมส์

ส่วนใหญ่พวกเขามักจะชอบที่ได้รับความเคารพ แต่หากคุณไปก้าวก่ายจนพวกเขาโมโห หรือไปทำลายป่าไม้ ทะเลสาบ หรือสถานที่ที่พวกเขาสถิตอยู่ล่ะก็ พวกเขาก็อาจสาปให้คุณพบเจอแต่เรื่องร้าย ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม บางเผ่าก็เป็นแฟรี่ที่ดีมาก ๆ เช่น ซานา (Zānā) แฟรี่แห่งโรมาเนีย เป็นแฟรี่แม่ทูนหัวแห่งป่าไม้ เธอจะนำทางผู้คนที่หลงป่าให้ปลอดภัย และจะอวยพรให้เด็กแรกเกิดด้วย

ในทางกลับกัน แฟรี่บางตนก็ร้ายกาจมาก เช่น ฮันตู กาหยู (Hantu Kayu) เทพารักษ์ของประเทศมาเลเซีย ว่ากันว่า ‘ผีต้นไม้’ พวกนี้จะนำโรคภัยไข้เจ็บหรือโชคร้ายมาให้แก่ใครก็ตามที่เข้าไปในป่า

ฮันตูกาหยู

(ฮันตู กาหยู (Hantu Kayu) แฟรี่ใจร้ายที่สถิตอยู่ในต้นไม้)

แฟรี่เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ

แฟรี่ตามตำนานพื้นบ้านมีหลากหลายเผ่าพันธุ์จนนับไม่ถ้วน แต่สามารถจัดเป็นกลุ่มหลัก ๆ ได้ดังนี้

  • ภูตดอกไม้, นางไม้ (Fairy) ภูตดอกไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์ สวยงาม มักมีขนาดเล็กและส่วนมากบินได้
  • เอลฟ์ (Elf) เอลฟ์จะดูคล้ายมนุษย์มากกว่าภูตดอกไม้ แม้ว่าพวกเขาจะมีหูแหลมเฟี้ยวก็ตาม
  • อิมป์ (Imp) สิ่งมีชีวิตตัวเล็กเหล่านี้มักมีนิสัยซุกซน ก่อกวน และบางครั้งก็เป็นอันตรายด้วย
  • บราวนี (Brownie) แฟรี่ผู้เกื้อกูล ตัวมอมแมม และรักสันโดษ อาศัยอยู่ในบ้าน พร้อมจะช่วยงานบ้านเสมอเพื่อแลกกับอาหาร
  • พิกซี (Pixie) แฟรี่ตัวป่วนที่อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าโล่ง หรือโบราณสถานต่าง ๆ
  • โนมส์ (Gnomes) มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ตัวจิ๋ว อาศัยอยู่ในป่า สวน หรือภูเขา
  • ก็อบลิน (Goblin) สิ่งมีชีวิตตัวเล็กที่บางทีก็ชอบขโมยของ เป็นตัวนำโชคร้าย และเป็นอันตรายต่อมนุษย์
  • สไปรต์และสปิริต (Sprites and spirits) แฟรี่ที่แสนบอบบางอ่อนโยน เหล่าสไปรต์จะไม่มีรูปร่างแน่ชัด และอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

นี่เป็นเพียงกลุ่มหลัก ๆ เท่านั้น ความจริงเหล่าแฟรี่ยังมีอีกมากมายหลายเผ่าพันธุ์แยกย่อยไปทั่วทุกมุมโลก ยกตัวอย่างดังนี้

ญาติ ๆ ของเหล่าแฟรี่

  • อย่าหลงกล พัค (Puck) เจ้าแผนการ
  • ห้ามให้เสื้อผ้ากับ บราวนี (Brownie) ผู้รักงานบ้านเด็ดขาด
  • ถ้าได้ยินเสียงหึ่งๆ เหมือนผึ้งอยู่ใกล้ๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณของ ออส ซี (Aos Si)
  • ระวังให้ดี พิกซี (Pixie) อาจล่อลวงให้หลงทาง
  • ว่ากันว่าฟาร์มไหนที่มี นิสเซ (Nisse) ขนของม้าในฟาร์มนั้นจะเงางามเป็นพิเศษ
  • เชื่อไหมว่าทุกคนมี ฮัลติอัส (Haltijas) คอยปกปักษ์รักษาอยู่
  • จะมองเห็น ฮุลดูโฟล์ก (Huldufólk) ผู้หลบซ่อนได้ ก็ต่อเมื่อเขาเผยตัวให้เห็นเอง
  • ในตอนย่ำบนมอสผืนนุ่ม นั่นอาจเป็น มูสลอยเทอ (Moosleute) ที่อาศัยอยู่ตามรากไม้
  • ได้ยินเสียงปริศนาในบ้าน นั่นเพราะมี มาซซามูเรลโล (Mazzamurello) แอบอยู่ใต้ผนังน่ะสิ
  • จะเชื่อได้ยังไงว่าสัตว์ที่อยู่ตรงหน้าเป็นของจริง ไม่ใช่ ลูแต็ง (Lutin) แปลงกายมา
  • ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว นางฟ้า ทุนเดอร์ (Tündér) เคยอาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์
  • อย่าแอบมอง วีวา (Vila) ถ้าไม่อยากถูกสาปให้ตกหลุมรัก
  • อยากให้งานเดินหน้า มาขอให้ กัลต์ซากอร์รี (Galtzagorri) ช่วยสิ
เอลฟ์เก็บเห็ด

(อิมป์ (Imp) ตัวน้อยกับตะกร้าเก็บเห็ดของเขา)

เรื่องเล่าขาน ตำนานแฟรี่

มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับแฟรี่ที่ถ่ายทอดต่างกันเป็นพัน ๆ แบบ

แต่เรื่องเดียวเท่านั้นที่ถูกพูดถึงในทิศทางเดียวกัน คือความสามารถ และนิสัยใจคอของแฟรี่

การเรียนรู้เรื่องราวของแฟรี่ตัวน้อย ทั้งในด้านขนบธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติของเหล่าแฟรี่ จะช่วยให้คุณเข้าใจแฟรี่ทั้งหลายได้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้คุณเลี่ยงที่จะไม่ทำให้แฟรี่โกรธได้ด้วย ไม่ว่าคุณจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม

การโบยบินของแฟรี่

แฟรี่ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่คล้ายอากาศธาตุ แทบจะไร้น้ำหนัก แถมยังโผบินไปที่ไหนก็ได้ดั่งใจนึก

แฟรี่บางเผ่าพันธุ์จะมีปีกคล้ายปีกผีเสื้อ บางเผ่าพันธุ์ก็บินได้โดยไม่ต้องใช้ปีก นอกจากพวกเอลฟ์ (Elf) โนมส์ (Gnomes) และบราวนี (Brownie) เท่านั้น ที่เดินด้วยสองเท้า

เหรียญทองแฟรี่

มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับมนุษย์ที่ขโมยเหรียญทองจากแฟรี่ หรือมนุษย์ที่ได้รับเหรียญทองจากแฟรี่เพื่อแลกเปลี่ยนกับบางสิ่งที่สมน้ำสมเนื้อกัน

ตามตำนานของชาวไอริช เล็ปเพรอะคอนส์ (Leprechauns) คือแฟรี่ตัวน้อย ๆ ที่เฝ้าโหลใส่เหรียญทองอยู่ ณ ปลายสายรุ้ง

ถ้าคุณจับเล็ปเพรอะคอนส์ไว้ได้ เขาจะให้เหรียญทองคุณเพื่อแลกกับอิสรภาพ

แต่อย่างไรก็ดี เหรียญทองของแฟรี่มักไม่ใช่สิ่งที่เชื่อถือได้เท่าไร เพราะหากลองสังเกตมันอีกครั้ง เหรียญทองนั้นอาจกลายเป็นเพียงเศษใบไม้ ก้อนหิน เค้กชิ้นเล็ก ๆ หรือแม้กระทั่งเห็ดพิษไปแล้ว

Leprechaun

(เล็ปเพรอะคอนส์ (Leprechauns) กับเหรียญทองแฟรี่ที่เชื่อถือไม่ได้)

แฟรี่ลักเด็ก

บนโลกนี้มีเรื่องราวของแฟรี่ที่ชอบลักพาตัวเด็กน้อยอยู่ด้วย บางครั้งก็ลอบสับเปลี่ยนตัวเด็กกับแฟรี่เด็ก

นอกเหนือจากเวทมนตร์ทั้งหลายแล้ว แฟรี่มักจะถูกกล่าวถึงว่าเป็นพวกขี้อิจฉา พวกเขาริษยาเด็กที่หน้าตาน่ารัก รูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ และอยากจะเอาเด็ก ๆ ไปครอบครองไว้เอง

โชคดีที่ว่าเวทมนตร์นี้สามารถทำลายได้เมื่อคุณทำให้แฟรี่เด็กที่ถูกสับเปลี่ยนตัวมาหัวเราะ มนตร์สะกดจะสลายไป แล้วเด็กน้อยก็จะกลับคืนมา

เวทมนตร์ของแฟรี่

แฟรี่แต่ละเผ่าพันธุ์สามารถใช้เวทมนตร์ได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งหลัก ๆ จะมีดังนี้

  • มนตร์สารพัดนึก (Casting spells)

เวทมนตร์นี้สามารถเสกสิ่งของให้หายหรือปรากฏขึ้นได้ เปลี่ยนแปรสภาพอากาศ เสกให้ผู้คนตกหลุมรัก หรือถ้ากำลังโกรธอยู่ พวกเขาก็อาจใช้มนตร์นี้เสกโรคภัยหรือหายนะให้อุบัติขึ้นมา

  • มนตร์ปรู๊ดปร๊าด (Super-speed)

ตามตำนานกล่าวว่า แฟรี่เป็นพวกที่ทำอะไรได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาสามารถไถพรวนดิน หรือทำความสะอาดบ้านให้เสร็จภายในพริบตา หรือแม้กระทั่งเดินทางรอบโลกด้วยความเร็วแสง

  • มนตร์รอบรู้ (Wisdom)

แฟรี่บางตนปรุงยาเป็น ท่องป่าเก่ง หรือคุยกับสัตว์ได้ หากโชคดี พวกเขาอาจสอนสรรพวิชาเหล่านี้ให้กับคุณด้วย

  • มนตร์หายวับ (Invisibility)

สาเหตุที่คุณมองไม่เห็นแฟรี่ก็เพราะพวกเขาหายตัวได้ อันที่จริงแล้ว แฟรี่จะปรากฏตัวให้มนุษย์เห็นน้อยครั้งมาก

  • มนตร์พราวแสง (Luminescence)

แฟรี่มักจะเปล่งแสงพร่างพรายออกมายามโบยบินในตอนกลางคืน ซึ่งอาจทำให้คุณเผลอเข้าใจผิดได้ว่าพวกเขาเป็นหิ่งห้อย หรือดวงดาวพราวระยับ

  • มนตร์พรางตัว (Shapeshifting)

เหล่าแฟรี่นั้นสามารถแปลงกายได้ และมักจะเปลี่ยนเป็นสัตว์เสียส่วนใหญ่ ซึ่งสัตว์ใดก็ตามที่มีสีขาวปลอดทั้งตัว อาจเป็นไปได้ว่านั่นคือแฟรี่พรางกายมา

วิธีผูกมิตรกับแฟรี่

แฟรี่ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย ตราบใดที่ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างอ่อนโยน เคารพนอบน้อมสถานที่ที่แฟรี่สถิตอยู่ เช่น ป่า พื้นที่รกร้าง โบราณสถาน หรือบริเวณที่มีหินวางเรียงกันเป็นวงกลม

คุณอาจจะสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ แล้วตั้งไว้ในสวนเพื่อให้แฟรี่มาอยู่อาศัยก็ได้ หรือจะวางของขวัญและขนมสุดโปรดของแฟรี่เอาไว้ อย่างพวกครีม เนย นม หรือข้าวต้ม

หากคุณทำตัวน่ารักแบบนี้ แฟรี่ก็อาจจะมาหย่อนของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ให้คุณที่หน้าประตูก็ได้นะ

บ้านแฟรี่

(นี่คือ บ้านแฟรี่ (Fairy house) ที่ผู้คนนิยมสร้างแล้วนำมาวางไว้ในสวนหรือในป่าเพื่อให้แฟรี่ได้มาอยู่อาศัย)

บ้านแฟรี่

(บ้านแฟรี่ (Fairy house) ที่ ลิซซี (Lizzy) สร้างไว้ให้แฟรี่ แล้ว ทิงเกอร์เบลล์ (Tinker bell) มาพบเข้า จากเรื่อง Tinker Bell and the Great Fairy Rescue)

อาณาจักรแฟรี่

แฟรี่อาศัยอยู่ที่ไหนกัน ?

คำตอบคือ ทุกที่นั่นแหละ !

บางตำนานเล่าว่า อาณาจักรแฟรี่ซ่อนอยู่ในป่าลึก ในหุบเขาห่างไกล หรือซ่อนอยู่บนเกาะสาบสูญกลางโพ้นทะเล

ใช่แล้ว ! มีอาณาจักรแฟรี่ในที่แบบนั้นจริง ๆ หากแต่… ก็มีแฟรี่มากมายที่อาศัยอยู่รอบ ๆ ตัวเราเหมือนกัน

ณ ที่ที่ใกล้ตาจนมองข้าม อาณาจักรแฟรี่ตั้งอยู่ตรงนั้นเสมอ เพียงแค่เรามองไม่เห็นเท่านั้น

ณ โลกคู่ขนาน

ฮุลดูโฟล์ก (Huldufolk) แฟรี่จากไอซ์แลนด์ และ ออส ซี (Aos Si) แฟรี่ของชาวไอริช คือตัวอย่างของแฟรี่ที่อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ เพียงแต่อยู่ในโลกคู่ขนานที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเนื้อได้

คนที่จะมองเห็นโลกคู่ขนานและถิ่นอาศัยแสนอัศจรรย์ของเหล่าแฟรี่ได้ ต้องเป็นคนที่มีพลังวิเศษ หรือถูกแฟรี่ ร่ายมนตร์สะกดใส่เท่านั้น

แต่บางครั้ง คุณอาจค้นพบประตูวิเศษที่พาข้ามไปยังอาณาจักรแฟรี่โดยบังเอิญตามบริเวณปากถ้ำ ช่องต้นไม้ หรือบนเกาะลี้ลับ

อย่างตำนานของ มีมี (Mimi) สปิริตของชาวออสเตรเลียพื้นเมือง ที่เราสามารถข้ามไปยังโลกของพวกเขาได้ผ่านประตูบนโขดหิน

ณ แดนไกลโพ้น

อาณาจักรแฟรี่บางเผ่าพันธุ์ตั้งอยู่ในพื้นที่แสนไกลเกินกว่ามนุษย์จะไปถึง เช่น บ้านของ สปิริต ลิชอาย (Leshiye) ของชาวรัสเซีย พวกเขาอาศัยอยู่ในป่าลึกทางตอนเหนือ

เทพปกรณัมอิหร่านอย่างแฟรี่ เปริส (Peris) อาศัยอยู่บนเกาะห่างไกลใน อาณาจักรจินเนสตัน (Jinnestan)

กุเปรัน หรือ กุเวร หรือ เวสสุวรรณ (Kubera) ราชันยักษาของเหล่าภูตในประเทศอินเดีย ตำราฤคเวทกล่าวว่าเขามีวิมานอยู่ในถ้ำกลางป่าลึก

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อของชาวเมารี (Māori) ที่เล่าว่ามีก็อบลิน โพนาทูรี (Ponaturi) อาศัยอยู่ใต้ผืนทะเล และจะขึ้นมาบนชายหาดเฉพาะในตอนกลางคืนเท่านั้น

ณ บ้านของเรา

รู้ไหมว่ามีแฟรี่มากมายอยู่ในบ้านกับเรา ไม่ว่าจะเป็น บราวนี (Brownie) ผู้ทำประโยชน์เอย นิสเซ (Nisse) เอย หรือ ม็อกซิน ทงบ็อป (Moksin Tongbop) ที่ไม่ค่อยน่ารักเท่าไรเอย

พวกเขาต่างอาศัยอยู่ในบ้านกับเราทั้งนั้น แต่อาจไม่ค่อยได้เห็นเพราะพวกเขาซ่อนตัวเก่งอย่างน่าเหลือเชื่อ แถมยังแปลงกายและล่องหนได้อีกด้วย

แฟรี่ในบ้าน

(นิสเซ (Nisse) ตัวน้อย ที่แอบหลับอยู่ในบ้านของเรา)

ณ ที่ที่บอกอยู่ทนโท่

ในโลกของเรามีสถานที่มากมายที่ตั้งชื่อว่าแฟรี่ เพื่อย้ำเตือนว่ามีเหล่าแฟรี่อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนั้นตามความเชื่อ

อย่างเช่น ทะเลสาบแฟรี่ (Fairy lake) ในประเทศจีน, ถ้ำแฟรี่ (Fairy cave) ในอิตาลี, หรือที่ เกาะสกาย (Isle of Skye) ในประเทศสก็อตแลนด์ ก็มี สระแฟรี่ (Fairy pools) อันงดงาม

ในประเทศตุรกีมีป้อมปราการหินรูปทรงประหลาด ที่ถูกตั้งชื่อว่า ปล่องไฟแฟรี่ (Fairy chimneys) เพราะเชื่อว่ามีแฟรี่อาศัยอยู่ในนั้นจริง ๆ

ปล่องไฟแฟรี่

(ปล่องไฟแฟรี่ (Fairy chimneys) ในตุรกี ที่เชื่อว่ามีแฟรี่อาศัยอยู่ในนั้นจริง ๆ)

แฟรี่ลักพาตัว

นอกจากแฟรี่ที่ชอบลักเด็กแล้ว ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้ใหญ่ที่ถูกแฟรี่ลักพาตัวไปยังอาณาจักรลี้ลับด้วย

อย่างเรื่องของ ทัม ลิน (Tam Lin) นักรบในตำนานเก่าแก่ของชาวสก็อต ตำนานเล่าว่าเขาถูกราชินีแฟรี่จับตัวไปอยู่ด้วยกันใน อาณาจักรเอลฟ์เฮม (Elfhame)

ซึ่งในตอนท้าย เขาก็ได้รับการช่วยเหลือจาก เจเน็ต (Janet) คนรักของเขาซึ่งเป็นมนุษย์

อย่าริทานเด็ดขาด !

ตำนานทั้งหลายมักเล่าว่า ใครก็ตามที่ถูกแฟรี่ลักพาตัวหรือหลงเข้าไปในดินแดนแฟรี่ อาจติดอยู่ที่นั่นตลอดกาล

ทว่าตำนานได้บอกวิธีเอาตัวรอดไว้ว่า ต้องดูแลตัวเองไม่ให้ถูกร่ายมนตร์สะกดใส่ ซึ่งทำได้ด้วยการเลี่ยงไม่ทานอาหารอะไรก็ตามที่แฟรี่มอบให้

เพราะมันจะช่วยให้คุณยังคงเป็นมนุษย์และมีสติครบสมบูรณ์ จนสามารถพาตัวเองหาทางหนีทีไล่ออกมาจากที่แห่งนั้นได้นั่นเอง

สัญลักษณ์แห่งแฟรี่

ใครที่กำลังท่องสำรวจโลกธรรมชาติอยู่ จงสังเกตดูให้ดี ๆ ไม่แน่ว่า… อาจจะได้พบสัญลักษณ์บางอย่างที่บ่งบอกว่ามีแฟรี่อาศัยอยู่แถวนั้นก็ได้

แน่นอนว่าย่อมมีคนที่พยายามให้คำอธิบายเกี่ยวกับร่องรอยประหลาดนี้

แล้วคุณล่ะคิดยังไง ?

วงแหวนแฟรี่

วงแหวนแฟรี่คือลักษณะของกลุ่มเห็ดหรือเห็ดพิษที่เรียงตัวกันเป็นวงกลม มักพบบนผืนหญ้าหรือในป่า ยิ่งนานปีเข้า วงแหวนนี้ก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะราเห็ดแผ่ขยายโครงข่ายออกไปในใต้ดิน

แต่หากจะเล่าในมุมตำนานพื้นบ้าน ว่ากันว่า วงแหวนแฟรี่เกิดจากกลุ่มแฟรี่ที่ออกมาเริงระบำยามค่ำคืน

หากคุณเห็นวงแหวนนี้ หรือมีวงแหวนนี้อยู่ในบริเวณสวนหรือฟาร์ม จะถือเป็นโชคดี แต่หากวันดีคืนดีคุณบังเอิญได้พบเหล่าแฟรี่ที่กำลังเต้นรำกันอยู่ในวงแหวนนี้ล่ะก็ อย่าเข้าไปร่วมวงเด็ดขาด !

เล่ากันว่า ใครก็ตามที่เข้าไปหาพวกเขาจะถูกร่ายมนตร์ใส่ สะกดให้ต้องเต้นรำไปชั่วกาลนาน

วงแหวนแฟรี่

(วงแหวนแฟรี่ ที่เชื่อว่าเกิดจากเหล่าแฟรี่ออกมาเริงระบำกันยามค่ำคืน)

ดวงไฟแฟรี่  

หากเดินเข้าไปใกล้หนองน้ำหรือบึงในยามวิกาล คุณอาจได้เห็นดวงไฟที่น่าขนลุกลุกโพลงอย่างไร้ที่มาอยู่ท่ามกลางความมืด

ดวงไฟนั้นเกิดจากแก๊สที่หนองน้ำปล่อยออกมา เมื่อสัมผัสกับอากาศจึงเกิดเปลวไฟลุกโชน… แต่มันคือดวงไฟจริง ๆ งั้นเหรอ ?

หลายร้อยปีก่อน ผู้คนเชื่อว่าดวงไฟที่หนองน้ำเกิดจากแฟรี่ หรือมาจากสิ่งลี้ลับที่ถือโคมไฟอยู่ พวกเขาเลยตั้งชื่อว่า ลูกไฟปีศาจ (Will-o’-the-Wisp) บ้าง ตะเกียงของแจ็ก (Jack-o’-Lantern) บ้าง แสงไฟของพิกซีบ้าง ในอินเดียจะเรียกว่า ดวงไฟผี (Chir Batti)

บางเรื่องราวอาจเล่าว่าแสงไฟพวกนี้ช่วยชี้จุดซ่อนสมบัติของแฟรี่ แต่จงระวังไว้ให้ดี เพราะใครก็ตามที่ตามแสงไฟนั้นไป ล้วนพบจุดจบอยู่ในหนองน้ำลึกอันตรายนั้นแทน

ดวงไฟวิญญาณ

(ดวงไฟแฟรี่ที่มักเกิดขึ้นบริเวณใกล้หนองน้ำ)

ข้าวของที่หล่นหาย

ในชนบท แฟรี่เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะพวกที่ชอบทิ้งขว้างข้าวของไว้เกลื่อนกลาดตามรายทาง หากสังเกตดี ๆ บางทีคุณอาจบังเอิญเก็บของหายเหล่านี้ได้

ลูกศรเอลฟ์
  • ลูกศรเอลฟ์ (Elf arrows) หัวลูกศรที่ทำจากหินเก่านี่ คุณว่ามนุษย์ยุคหินเป็นคนทำ หรือว่าพวกเอลฟ์เป็นคนทำกันแน่ ?
หินมีหลุม
  • ถ้วยเอลฟ์ (Elf cups) ลักษณะคล้ายก้อนกรวดที่มีหลุมใส่น้ำอยู่ตรงกลาง นี่อาจจะเป็นถ้วยของเอลฟ์จริง ๆ ก็ได้นะ
ขนมปังแฟรี่
  • ก้อนขนมปังแฟรี่ (Fairy loaves) ในขณะที่ใครบอกว่านี่เป็นฟอสซิลของเม่นทะเล แต่หลายคนก็รู้จักมันในนามของก้อนขนมปังแฟรี่
รังต่อ
  • หม้อดินจิ๋วแฟรี่ (Fairy-sized pottery) หม้อดินเล็กจิ๋วนี้คือรังของตัวต่อพอตเตอร์ (Potter wasp) แต่มันอาจจะเป็นเหยือกใส่น้ำของพวกแฟรี่จริง ๆ ก็ได้

สวนแฟรี่

รายชื่อของพืชต่อไปนี้ บ่งบอกว่าแฟรี่ใช้ประโยชน์อะไรจากมันบ้าง

ดอก Fairy Duster
  • แฟรีดัสเตอร์ หรือ แปรงปัดฝุ่นแฟรี่ (Fairy duster) ดอกไม้ชนิดนี้มีชื่อว่าแปรงปัดฝุ่นแฟรี่ ดูจากรูปคุณคงเข้าใจนะ
ดอก Fairy Bells
  • แฟรีเบลส์ หรือ ระฆังแฟรี่ (Fairy bells) บางทีเหล่าแฟรี่อาจใช้ดอกไม้ชนิดนี้สร้างท่วงทำนองอันไพเราะ หรือใช้เป็นระฆังลั่นในงานวิวาห์ก็ได้
ดอก Fairy Slippers
  • แฟรีสลิปเปอร์ หรือ รองเท้าแตะแฟรี่ (Fairy slippers) ดอกไม้น่ารักนี้ เหล่าแฟรี่ใช้สวมเป็นรองเท้าได้พอดีเป๊ะ

การพบเห็นแฟรี่

แฟรี่ตัวเล็กจิ๋วเกินกว่าจะสังเกตได้ แถมยังซ่อนตัวอยู่ในโลกคู่ขนานอันลึกลับอีกต่างหาก ไม่ง่ายเลยที่มนุษย์จะได้เห็นพวกเขาตัวจริงเสียงจริง

แต่เชื่อว่าแม้จะลึกลับเพียงไร ก็ต้องมีคนเคยเห็นแฟรี่จริง ๆ อยู่บ้างล่ะ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีเรื่องเล่าเหล่านี้สืบทอดกันมาเนิ่นนานจนถึงปัจจุบันหรอก

แล้วยังถูกบอกเล่าในลักษณะคล้าย ๆ กันไปทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่ยุคที่มนุษย์ยังไม่มีเครื่องมือสื่อสารด้วยซ้ำ

กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีคนเชื่อว่าแฟรี่มีอยู่จริง และต่อไปนี้ก็คือเรื่องราวบางส่วนเกี่ยวกับการพบเห็นแฟรี่จากทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ผาชิมนีย์ ร็อก (Chimney rock)

ในปี ค.ศ. 1891 มีผู้คนกว่าสิบรายเล่าว่าพวกเขาพบเห็นสิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายแฟรี่บินอยู่รอบ ๆ ผาชิมนีย์ ร็อก ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา

เรื่องเริ่มจาก มีกลุ่มเด็ก ๆ ที่บังเอิญไปพบเจอปรากฏการณ์ลี้ลับนี้เข้า พวกเขาพยายามเล่าสิ่งที่เห็นให้คนในท้องถิ่นคนหนึ่งฟัง แต่กลับถูกมองว่ากำลังล้อเล่นไร้สาระ

ทว่าในเวลาต่อมา ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเจอปรากฏการณ์ที่ว่านี้เข้าเหมือนกัน จากนั้นชาวบ้านหลายคนจึงเริ่มไปพิสูจน์เรื่องนี้ด้วยตาตัวเอง

ว่ากันว่า พวกเขาเห็นเหล่าแฟรี่แต่งตัวด้วยชุดคลุมยาว มีผ้าคลุมสีขาว รูปร่างคล้ายมนุษย์ทุกอย่าง เว้นเสียแต่พวกเขาบินได้

ผาชิมนีย์

(ผาชิมนีย์ ร็อก (Chimney rock) ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกาที่มีเรื่องเล่าว่ามีคนพบแฟรี่ที่นี่จริง ๆ)

บทเพลงแฟรี่

วิลเลียม เคน (William Cain) นักไวโอลินจากไอล์ออฟแมน เกาะในทะเลไอริช บริเวณศูนย์กลางของหมู่เกาะบริเตน สหราชอาณาจักร เล่าประสบการณ์ว่าได้เจอแฟรี่ ในช่วงต้น ๆ ปี ค.ศ. 1900

ขณะที่เขากำลังเดินอยู่ในหุบเขา เขาสังเกตเห็นเรือนแก้วพิสดารหลังหนึ่ง มีไฟส่องสว่างมาจากด้านใน พร้อมกันนั้นยังมีท่วงทำนองเพลงอันไพเราะอย่างน่าอัศจรรย์ดังลอดออกมาด้วย

เขาจดจำทำนองเพลงได้ เมื่อกลับถึงบ้าน เขาก็บรรเลงบทเพลงนั้นออกมาด้วยไวโอลินของเขาเอง

(คุณ วิลเลียม เคน (William Cain) ตัวจริงเสียงจริง)

เอลฟ์ชุดเขียว

ขณะที่บางคนพบเห็นแฟรี่กำลังโบยบิน คนอีกกลุ่มก็พบเห็นสิ่งมีชีวิตที่รูปร่างคล้ายเอลฟ์ แต่งกายด้วยชุดสีเขียว ดังในสามรายงานต่อไปนี้

  • บาร์กเชอร์, สหราชอาณาจักร

ภรรยาชาวไร่คนหนึ่งได้บรรยายเหตุการณ์การพบเห็นเอลฟ์ไว้ว่า ในปี ค.ศ. 1962 ตอนนั้นเธอหลงทางอยู่ในแถบชนบทของบาร์กเชอร์ และในขณะที่กำลังสับสนว่าจะไปทางไหนดี เธอก็เหลือบไปเห็นมนุษย์ตัวจิ๋วแต่งชุดสีเขียวยืนอยู่ข้าง ๆ เธอ เขาพูดกับเธอว่า “ไปทางนั้นสิ !” ก่อนจะหายวับไป ซึ่งทางที่บอกนั้นก็เป็นทางที่ถูกต้องจริง ๆ ด้วย

  • คอร์นวอลล์, สหราชอาณาจักร

คอร์นวอลล์เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับตำนานของพิกซีและแฟรี่หนึ่งในรายงานจริงจากหญิงคนหนึ่งที่มาพักผ่อนในวันหยุดกับลูกสาว ขณะที่ทั้งคู่เดินอยู่บนถนน จู่ ๆ ก็พบเข้ากับคนตัวจิ๋วที่มีหูแหลมเฟี้ยว สวมแจ็กเก็ตกับฮู้ดเขียว แต่ด้วยความตกใจกลัว ลูกสาวจึงร้องกรี๊ดออกมาดังลั่น แล้วสองแม่ลูกก็โกยแน่บไปเลย

  • นิวแฮมป์เชียร์, สหรัฐอเมริกา

มีรายงานในปี ค.ศ. 1956 บันทึกไว้ว่า ขณะที่ อัลเฟรด ฮอร์น (Alfred Horne) กำลังตัดต้นคริสต์มาสในป่าแถวบ้านอยู่นั้น เขาก็รู้สึกได้ว่ามีใครบางคนกำลังจ้องมองเขาอยู่ พอเงยหน้าขึ้นไปบนต้นไม้ เขาก็พบมนุษย์ตัวจิ๋วอยู่บนนั้น สูงประมาณ 60 เซนติเมตร ผิวสีเขียว มีใบหูใหญ่ห้อยย้อย อัลเฟรดเอื้อมมือไปกะจะลองจับดู แต่สิ่งนั้นกลับกรีดร้องลั่นแล้วหนีเขาไปด้วยความหวาดกลัว

เอลฟ์ชุดเขียว

(เอลฟ์ชุดเขียว (Green elves) ที่ชอบจ๊ะเอ๋เข้ากับมนุษย์โดยไม่ได้ตั้งใจ)

รูปถ่ายแฟรี่

ในช่วงปี ค.ศ. 1917 ถึง 1920 ลูกพี่ลูกน้องสองคนแห่งคอตทิงลีย์ สหราชอาณาจักร ได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกด้วยภาพถ่ายแฟรี่ 5 ใบ ที่ถ่ายได้จากสวนของพวกเขา

ทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่าปลอมภาพขึ้น ซึ่งหลายปีถัดจากนั้น พวกเขาก็ออกมายอมรับความจริงว่าแฟรี่ในรูปถูกปลอมขึ้นมาจากกระดาษแข็ง แล้วปักหมุดไว้ตามสุมทุมพุ่มดอกไม้กับพื้นหญ้า

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองยังคงยืนกรานหนักแน่นว่าพวกตนเห็นแฟรี่จริง ๆ แต่ถ่ายภาพไม่ติด จึงตั้งใจปลอมภาพขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็น

คอตติงลีย์
คอตติงลีย์

(ภาพถ่ายแฟรี่ 4 ภาพนี้ถูกยืนยันชัดเจนว่าถูกปลอมแปลงขึ้นมาจากกระดาษแข็งที่ปักหมุดยึดไว้กับพื้น)

คอตติงลีย์

(ภาพถ่ายแฟรี่ใบสุดท้าย ที่หนึ่งในผู้ปลอมแปลงภาพยังคงยืนยันแบบกระต่ายขาเดียว

ว่าเป็นภาพถ่ายติดแฟรี่จริงที่เธอบังเอิญถ่ายติดได้ ขณะยอมรับว่าภาพอื่นถูกปลอมแปลงขึ้นมา)

ถัดมาในปี ค.ศ. 2014 มีผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งชื่อ จอห์น ไฮแอต (John Hyatt) ได้ถ่ายภาพแฟรี่ที่โรสเซนเดล สหราชอาณาจักร

ในภาพดูเหมือนจะปรากฏให้เห็นแฟรี่ตัวจิ๋วเรืองแสงกำลังโบยบินอยู่ แต่บางคนก็มองว่ามันคือแมลงชีปะขาวธรรมดา ๆ ที่สะท้อนกับแสงอาทิตย์อัสดงเท่านั้น

(ภาพถ่ายแฟรี่ของ จอห์น ไฮแอต (John Hyatt))

คู่มืออยู่ร่วมกับแฟรี่

ถ้าคุณพบว่าตัวเองตกอยู่ในอาณาเขตของแฟรี่ หรือกำลังสงสัยว่ามีแฟรี่อยู่ในบ้านของตัวเอง คุณจะทำยังไง ?

ลองทำตามเคล็ดวิธีนี้ดูสิ รับรองว่าคุณจะทำให้แฟรี่พึงพอใจ และห่างไกลจากการถูกสาป

เคารพโลกธรรมชาติ

เหล่าแฟรี่รักธรรมชาติ และมักคอยปกปักรักษาสถานที่รกร้างต่าง ๆ ดังนั้นก็จงประพฤติตัวดี ๆ เวลาอยู่นอกบ้านไว้นะ

  • ห้ามทำลายต้นไม้ ทำร้ายสัตว์ หรือทิ้งขยะเรี่ยราด
  • ไม่เหยียบรังมดหรือเห็ดพิษ เพราะอาจจะมีแฟรี่อาศัยอยู่
  • ห้ามขว้างปาก้อนหิน เพราะอาจบังเอิญปาไปโดนแฟรี่ที่กำลังล่องหนอยู่ก็ได้

เป็นเพื่อนบ้านที่น่ารัก

แฟรี่ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย ตราบใดที่คุณทำตัวน่ารักกับพวกเขา จำเอาไว้ให้ดีว่า…

  • แฟรี่ชอบกินครีม เนย หรือนมที่สามารถวางทิ้งไว้ข้ามคืนได้
  • แฟรี่บางตนชอบมาก หากคุณสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ ให้พวกเขา
  • ห้ามให้เสื้อผ้าชุดใหม่กับพวกบราวนี (Brownie) เดี๋ยวพวกเขาจะโกรธเอานะ

วิธีป้องกันการถูกแฟรี่ลักพาตัว

หากพบเจอเหล่าแฟรี่ที่กำลังเริงระบำใต้แสงจันทร์ หรือเต้นรำกันอยู่ในวงแหวนแฟรี่  อย่าให้พวกเขาเห็นคุณเป็นอันขาด ! ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะร่ายมนตร์ใส่คุณ

ห้ามเข้าไปร่วมวงเต้นรำเด็ดขาดด้วย ! เพราะนั่นเป็นการเปิดทางให้เหล่าแฟรี่จับตัวคุณไป

หากแฟรี่ล่อลวงคุณไปยังอาณาจักรของพวกเขา ห้ามกินอาหารใด ๆ เด็ดขาด มันจะช่วยให้คุณยังคงเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ และเพิ่มโอกาสที่จะรอดกลับมาได้

โนมส์ทำสวน

(เหล่า โนมส์ (Gnomes) ที่กำลังดูแลสวนอย่างขะมักเขม้น)

เมื่อได้รู้จักพวกเขาคร่าว ๆ แล้ว หวังว่าคุณจะทำตัวเป็นเพื่อนบ้านที่น่ารัก และไม่เผลอทำอะไรเด๋อด๋าให้เหล่าแฟรี่ไม่พอใจเข้านะ

เทศกาลบูชาแฟรี่

Sanzienele

ในโรมาเนียมีการจัดงานเทศกาลที่ชื่อว่า เทศกาลซานเซียนา (มีหลายชื่อเรียก Sânziană, Sanzienele, Dragaica) เป็นการเฉลิมฉลองแบบดั้งเดิมที่จัดขึ้นในช่วงครีษมายัน ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน กลางฤดูร้อน

เทศกาลนี้ผสมผสานประเพณีดั้งเดิมในท้องถิ่นและพิธีกรรมของชาวคริสเตียน จะมีการเล่นดนตรี การเต้นรํารอบกองไฟ และพิธีกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย

Sanzienele

เป็นวันหยุดที่ชาวบ้านจะมารวมตัวกัน แต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง และเฉลิมฉลองการมาถึงของฤดูร้อนด้วยงานรื่นเริงสนุกสนาน เทศกาลนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในชนบทของโรมาเนีย ที่ซึ่งประเพณีและความเชื่อโบราณยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้

ชื่อ เทศกาลซานเซียนา (Sânziană) ตั้งชื่อตามแฟรี่ ซานเซียเนเล่ (Sanzienele) ผู้งดงาม เป็นนางฟ้าแห่งพืชพรรณธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์

ในคืนวันที่ 23-24 มิถุนายน เชื่อกันว่าซานเซียเนเล่จะลงมาเดินสำรวจป่าและท้องทุ่ง จากนั้นก็จะเต้นรำและร้องเพลงกัน ในคืนนั้นท้องฟ้าจะเปิด เป็นคืนที่มีมนตร์ขลัง ความมหัศจรรย์ล้วนบังเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

Sanzienele

นักชาติพันธุ์วิทยาชาวโรมาเนีย ชื่อ มาร์เชล ลูติก (Marcel Lutic) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นชื่อ  Mediafax เกี่ยวกับซานเซียเนเล่ว่า

“พวกนางคือแฟรี่แห่งท้องทุ่ง คอยมอบพลังพิเศษให้กับดอกไม้และวัชพืช ทำให้พวกมันกลายเป็นสมุนไพร และในช่วงการเฉลิมฉลองวันที่ 24 มิถุนายน นั่นก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรอกนะ ที่พืชทุกชนิดจะหยุดเจริญเติบโตหลังจากวันซานเซียนา”

ชื่อกันว่าซานเซียเนเล่เป็นแฟรี่ที่ดี แต่หากปีใดไม่มีการจัดเทศกาลนี้เพื่อแสดงความเคารพ ซานเซียเนเล่จะโกรธ และบันดาลให้เกิดพายุถล่มเมือง พืชผลไม่เติบโต ดอกไม้ไม่เบ่งบาน

ดังนั้นใน คืนก่อนวันซานเซียนา (Sânziană Eve) และ วันซานเซียนา ทุกคนก็จะมาเฉลิมฉลองเต้นรํา ร้องเพลง มีการจุดกองไฟขนาดใหญ่ และในบางหมู่บ้านก็จะพากันจุดคบเพลิงเดินไปรอบ ๆ บ้านและท้องทุ่งเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย

Sanzienele

ในตอนเช้าวันซานเซียนา ผู้คนจะนำ ดอกซานเซียนา มาทำช่อดอกไม้ และทําพวงดอกไม้โยนขึ้นหลังคา เชื่อกันว่า หากพวงดอกซานเซียนาค้างอยู่บนหลังคาบ้าน แปลว่าคนบ้านนั้นจะมีอายุยืนยาว

Sanzienele

(ดอกซานเซียนา (Sanziene, Lady’s bedstraw))

และยิ่งหากคนที่ขว้างพวงดอกซานเซียนาไปค้างบนหลังคาเป็นหญิงสาวโสด นั่นหมายความว่าผู้หญิงคนนั้นจะได้แต่งงานในปีนั้น ส่วนในคืนวันซานเซียนา หญิงสาวก็จะนำพวงดอกซานเซียนาไปวางไว้ใต้หมอน เพื่อให้ฝันถึงเนื้อคู่ด้วย

Sanzienele

นอกจากนี้ ผู้คนยังนำพืชมาทำเป็นไม้กางเขน ก่อนจะไปที่โบสถ์เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ แล้วก็นำไม้กางเขนนั้นกลับไปบ้าน เพื่อให้เป็นเครื่องรางปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้าย และโรคภัยไข้เจ็บ

Sanzienele

ทุกๆ ปี โรมาเนียจะมีการจัดเทศกาลนี้ มีงานแสดงสินค้าจากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงให้ผู้คนได้เลือกชมเลือกซื้อมากมาย และถือเป็นโอกาสที่ดีสําหรับชายหนุ่มและหญิงสาวที่จะได้พบปะสานสัมพันธ์กัน

Sanzienele

*

สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่เปี่ยมล้นไปด้วยความมหัศจรรย์เหล่านี้มัดหัวใจของใครหลายคนเอาไว้ซะอยู่หมัดเลยใช่ไหมคะ

ช่างมีเสน่ห์เหลือร้ายจริง ๆ !

แม้แต่ฉันเองก็ยังมีความสุขตลอดการถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาทุกบรรทัดเลยค่ะ ที่เล่าไปนี้ก็ยังมีหลายหัวข้อที่น่าเจาะลึกขึ้นไปอีก ยังไงในอนาคต ฉันจะมาเล่าให้ทุกคนฟังอีกนะคะ 

มาลินทร์, แม่มดฝึกหัด

-บรรณารักษ์-

*

บรรณานุกรม

Anna Claybourne. (2022). The Fairy Atlas. Great Britain : Laurence King Publishing

Judy Allen. (2005). Fantasy Encyclopedia. [First published]. London : Kingfisher Publications Plc

แปลโดย : ญ. หงิญ

Loading

ผู้เขียน

  • Malyn

    แม่มดฝึกหัดตัวน้อย ผู้หลงใหลในเรื่องลึกลับสุดหัวใจ

    View all posts