เทพแพน

เทพแพน

เทพแพน (Pan) เทพเจ้ากรีกโบราณผู้มีความผูกพันธ์ลึกซึ้งกับธรรมชาติ คนเลี้ยงแกะ… และเหล่านางไม้ (ในแง่ของความผูกพันธ์ลึกซึ้ง สนิทสนมเกินใครกับเหล่านางไม้น่ะนะ…)

ว่ากันว่าเขานั้นทรงเสน่ห์ยวนใจ มีสายตาอบอุ่น ถ้อยวจีหวานล้ำ รูปร่างสง่างาม แต่คุณสมบัติของ หนุ่มฮอต ยังไม่หมดเพียงเท่านี้หรอก ถ้ายังไม่ได้พูดถึง เขาแพะ และ กีบเท้า 

เทพแพนมักปรากฏตัวอย่างกะทันหันในรูปลักษณ์ท่อนบนเป็นมนุษย์ มีเขาบนหัว ท่อนล่างเป็นแพะ ทำให้สาว ๆ ตกใจจนตั้งตัวไม่ทัน กลายเป็นที่มาของคำว่า ‘แพนิก (Panic)’ ภาวะทางจิตที่ตื่นตระหนก หวาดกลัวขั้นรุนแรง อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

เทพแพน

‘เทพแพน’ คือใคร

ตำนานกล่าวว่า เทพแพนเป็นบุตรของ เทพเฮอร์มีส (Hermes) เทพผู้ส่งสาร กับนางไม้ (Nymph) ชื่อ ดรายโอป (Dryope) เมื่อเทพแพนถือกำเนิด ยีนเด่นจากเทพและนางไม้ทำให้เขามีรูปลักษณ์เป็นครึ่งคนครึ่งแพะ คล้ายกับ เซเทอร์ (Satyr) และ ฟอน (Faun)

เทพเฮอร์มิส

(ภาพ เทพเฮอร์มีส (Hermes) เทพผู้ส่งสาร บิดาของเทพแพน (Pan))

นางไม้ (Nymph)

(ภาพ นางไม้ (Nymph) วาดโดย : ฮันส์ ซัตซ์กา (Hans Zatzka))

ชื่อ แพน (Pan) ของเขา มีที่มาจากคำว่า พอน (Paon) (บางตำนานก็ว่า เพียน (Paein)) แปลว่า ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เมื่อเติบใหญ่ เทพแพนหลงใหลการพเนจรไปในพงไพร ภูเขา ถ้ำ ลำน้ำ เต้นรำกับเหล่านางไม้ ไม่ว่าใครที่ได้อยู่ใกล้ต่างก็พูดกันว่าเทพแพนนั้นร่าเริง ขี้เล่น และซุกซน

 แม้สถานะเทพของพ่อจะทำให้เขาได้เป็นเทพไปด้วยก็ตาม แต่เทพแพนก็เป็นหนึ่งในเทพที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มาก ๆ เหมือนกับเทพารักษ์ บางครั้งบางคราเทพแพนจะออกมาเดินเล่นในทุ่งหญ้ากว้าง คอยมองดูเหล่าชาวบ้านที่พาสัตว์เลี้ยงมาเล็มหญ้า ผู้คนต่างบอกว่าเขาเป็นเทพที่ใจดี คอยช่วยอุปถัมภ์คนเลี้ยงสัตว์กับฝูงสัตว์อยู่เสมอ

ทำไมเทพแพนถึงเจ้าชู้ ?

ฟังเท่านี้ทุกคนอาจจะสงสัย อะไรกันที่ทำให้รูปร่างแปลกประหลาดในสายตามนุษย์เป็นที่น่าต้องตาต้องใจของเหล่าสาว ๆ ชาวทิพย์นัก

ซึ่งที่มาของนิสัยเจ้าชู้ประตูดินของเทพแพนนั้นมีหลายแง่มุมที่น่าสนใจด้วยกัน เช่น

  • เจ้าชู้โดยธรรมชาติ

เทพแพนเป็นเทพเจ้าแห่งโลกธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์

หลาย ๆ ความเชื่อมักมีการใช้เรื่องเพศเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เช่น ศิวลึงค์ โยนี เป็นต้น เรื่องราคะและความปรารถนาของมนุษย์จึงถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ดังนั้น เทพแพนที่ได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งโลกธรรมชาติ จึงถูกยึดโยงเข้ากับสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ไปโดยปริยาย

เทพแพนกับนางไม้ (Pan with Nymph)

(ภาพ เทพแพนกับนางไม้ (Pan with Nymph) วาดโดย : ริชาร์ เซดลอน (Richard Sedlon) ในปี ค.ศ. 1968)

  • คุณสมบัติเด่นของเซเทอร์

เซเทอร์ (Satyr) เป็นเทพารักษ์ครึ่งคนครึ่งแพะ เป็นเผ่าพันธุ์ที่ถือกำเนิดมาโดยมี เสน่ห์ เป็นคุณสมบัติวิเศษประจำกาย เหล่าเซเทอร์จึงเป็นที่หมายปองของบรรดาเทพสตรีและนางไม้ทั้งหลาย

เซเทอร์ชอบบริหารเสน่ห์และหยอกล้อกับสาว ๆ เปี่ยมไปด้วยตัณหาราคะ ภาพเหล่านี้จึงถูกยึดโยงเข้ากับเทพแพนไปด้วย

เหล่านางไม้กับเซเทอร์ (Nymphs and Satyr)

(ภาพ เหล่านางไม้กับเซเทอร์ (Nymphs and Satyr) วาดโดย : วิลเลียม-อดอล์ฟ บูแกโร (William-Adolphe Bouguereau) ในปี ค.ศ. 1873)

  • ภาพสะท้อนทางวัฒนธรรม

ความเชื่อและการให้ภาพเทพเจ้าทั้งหลายในอดีต มักสะท้อนและส่งเสริมค่านิยมของคนในสมัยนั้น ซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจทางเพศของผู้ชายต่อผู้หญิง รวมถึงพฤติกรรมบางอย่างที่แพร่หลายของคนในสังคม

อย่างที่เรารู้กันว่า ความเชื่อในอดีตบางอย่าง พอถูกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อนั้นจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปให้เข้ากับยุคสมัยและทัศนคติของคนในสังคม

เช่น ในอดีต เราจะสร้างเทวสถานขึ้นอย่างจำเพาะเพื่อประดิษฐานเทพเจ้าตามความเชื่อนั้น ๆ แต่ในปัจจุบัน เรามีการนำภาพจำลองของท่านมาทำเป็นวอลเปเปอร์หน้าจอโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ ที่ง่ายต่อการเข้าถึง

ซึ่งการทำ วอลเปเปอร์สายมู ที่เราเรียกกัน ก็จะถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนในยุคนี้ สะท้อนทัศนคติของคนยุคนี้ที่ต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่เข้าถึงง่าย เข้มขลัง แต่ไม่ดูน่ากลัวและตกยุคจนเกินไป

และในอนาคต เชื่อว่าก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนความเชื่อเป็นรูปแบบอื่น ๆ อันสะท้อนเอกลักษณ์เด่นตามแต่ละยุคสมัยอีกเช่นกัน

แม้เรื่องนิสัยและที่มาของเทพเจ้าแต่ละองค์ ที่คนในปัจจุบันสืบทอดมาจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้แล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมในอดีตภายใต้ระบอบปิตาธิปไตย และวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับการเกษตรอย่างลึกซึ้ง

เมื่อเทพแพนตกหลุมรัก

หลายคนมักเคยได้ยินพล็อตเกี่ยวกับหนุ่มเจ้าชู้ที่ตกหลุมรักหญิงสาวผู้ไม่ยอมมีใจให้เขา

เรื่องราวของเทพแพนจอมเจ้าชู้ ก็เป็นหนึ่งในนั้น…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีนางไม้ผู้งดงามตนหนึ่งนามว่า ซีริงซ์ (Syrinx) นางถือกำเนิดจาก เทพเลดอน (Ladon) เทพเจ้าประจำแม่น้ำเลดอนผู้เป็นบิดา

ซีริงซ์ผู้งดงามสิงสถิตอยู่ในป่าลึกที่ผู้คนไม่อาจเข้าถึง ความภักดีเดียวของนางอุทิศให้แด่ เทพีอาร์เทมีส (Artemis) และเลือกที่จะกล่าวคำปฏิญาณเพื่อถือพรหมจรรย์ไปชั่วนิรันดร์

กระนั้น ความภักดีของนางก็มักถูกก่อกวนเสมอ ด้วยคารมคมคายของเทพแพนเจ้าสำราญ

เทพแพนตกหลุมรักซีริงซ์ คอยเกี้ยวพาราสีและตามติดนางตลอด แต่ไม่ว่าอย่างไร ซีริงซ์ก็ไม่เคยพ่ายแพ้ให้กับลูกตื๊อของเขาเลย นางไม่ได้หลงใหลไปกับความโรแมนติกฉาบฉวยเลยด้วยซ้ำ

แต่อยู่มาวันหนึ่ง กำหนัดที่รัดรึงก็แผดเผาใจของเทพแพนจนเขาทนไม่ไหวอีกต่อไป เมื่ออ้อนวอนแล้วก็ไม่อาจได้ความรักจากนาง เขาจึงไล่ตามซีริงซ์ไปอย่างไม่ลดละข้ามป่าอาร์คาเดียน (Arcadian forests)

ซีริงซ์เองก็หนีหัวซุกหัวซุนมาจนถึงแม่น้ำเลดอนซึ่งเป็นอาณาเขตปกครองของบิดา ด้วยความหวาดกลัว ซีริงซ์จึงได้วิงวอนขอความช่วยเหลือจากเหล่าพรายน้ำ และพวกนางก็ตอบรับ พรายน้ำช่วยเปลี่ยนซีริงซ์ให้กลายเป็นต้นอ้อเพื่อหนีจากเทพแพน

เทพแพนกับซีริงซ์ (Pan and Syrinx)

(ภาพ เทพแพนกับซีริงซ์ (Pan and Syrinx)วาดโดย : แจน บรูเกล ผู้เยาว์ (Jan Brueghel the Younger))

เมื่อเทพแพนมาถึงริมฝั่งก็ไม่ทันการเสียแล้ว เขาทันเห็นเพียงร่างของซีริงซ์ที่ค่อย ๆ กลายเป็นต้นอ้อจนสมบูรณ์ เขาเสียใจอย่างมากที่ไม่อาจครอบครองนางมาเป็นของตนเองได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ยอมแพ้ต่อความรู้สึกที่มีให้นาง

ไม่ว่าจะเป็นพรจากสวรรค์ที่มอบแรงบันดาลใจให้เขา หรือโชคชะตาใดกำหนด เทพแพนก็ได้รังสรรค์สิ่งที่งดงามและไพเราะที่สุดจากร่างต้นอ้อของซีริงซ์ขึ้นมา

เขาตัดต้นอ้อออกมาในความยาวต่าง ๆ เพื่อสร้างเสียงที่ต่างกัน จากนั้นก็มัดเข้าด้วยกันและสร้างเป็นเครื่องดนตรีที่เรียกว่า ขลุ่ยแพน (Panflute, Panpipes) หรือ ซีริงซ์ (Syrinx) ตามชื่อของนางไม้ผู้ทำให้เขาตกหลุมรักเพื่อเป็นเกียรติแก่นาง

เทพแพนรักขลุ่ยนี้มาก เขามักบรรเลงเพลงจากขลุ่ยนี้เสมอเพื่อรำลึกถึงนาง ให้น้ำเสียงขับกล่อมก้องไปในป่าใหญ่ที่รายล้อมด้วยสรรพชีวิตและเหล่านางไม้ ขลุ่ยแพนได้กลายเป็นเครื่องดนตรีและสัญลักษณ์ประจำตัวของเทพแพนมานับแต่นั้น

เทพแพน

ภาคต่อของผู้ช้ำรัก

อกหักอย่างไรก็ต้องไปต่อ ใช่เพียงเทพแพนเท่านั้นที่ต้องมูฟออน แต่นางไม้ เอคโค (Echo) ผู้ถูก นาร์ซิสซัส (Narcissus) หักอกก็ต้องมูฟออนเช่นกัน…

เท้าความให้สักหน่อย เอคโคเป็นนางไม้ผู้งดงามร่าเริง และมีเสียงที่ไพเราะอย่างมาก นางจึงช่างจ้อเป็นพิเศษ และมีเพื่อนไปทั่วป่า

อยู่มาวันหนึ่ง เทพีเฮรา (Hera) ที่ตามหา เทพซุส (Zeus) ผู้เป็นสามีมาจนถึงป่าแถบนี้ นางกลัวว่าเขาจะมาเจ้าชู้ใส่เหล่านางไม้เหมือนอย่างเคย และนางก็ได้มาพบกับเอคโคเข้า

ความช่างฉอเลาะของเอคโคทำงาน เอคโคเข้าไปทักทายและชวนเทพีเฮราที่กำลังหัวร้อนพูดคุยจนนางหัวร้อนยิ่งกว่าเดิม ในจังหวะนั้นเอง เทพีเฮราจึงสาปเอคโคเพื่อให้หยุดพูด!

นับแต่นี้ต่อไป เจ้าจะพูดตามใจตนเองไม่ได้อีกตลอดกาล! จะพูดตามได้เพียงคำสุดท้ายของผู้ที่เจ้าได้ยินเสียงเท่านั้น

เอคโคเสียใจและอับอายมาก ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่อาจแก้คำสาปได้เลย 

กระทั่งวันหนึ่ง มีพรานหนุ่มผู้หนึ่งชื่อนาร์ซิสซัสเข้ามาล่าสัตว์ในป่า นาร์ซิสซัสเป็นชายหนุ่มรูปงามที่หลงตัวเองอย่างยิ่ง เขาไม่สนใจผู้ใดทั้งนั้น ทั้งยังไม่เคยตอบรับความรักใดจากผู้อื่น และคิดว่าความรักของผู้อื่นนั้นช่างน่าดูแคลนสิ้นดี

เอคโคได้พบกับนาร์ซิสซัสและตกหลุมรักเขาอย่างจังตั้งแต่แรกเห็น หากแต่ เมื่อนาร์ซิสซัสเอ่ยปากพูดกับเธอ ผลของคำสาปก็ทำให้เอคโคพูดได้เพียงคำสุดท้ายของเขาเท่านั้น

นาร์ซิสซัสโกรธมาก เขาคิดว่าเอคโคล้อเลียนจึงไล่ตะเพิดเอคโคไปให้พ้น ๆ เอคโคเสียใจมาก นางหนีเข้าไปร้องไห้ในถ้ำกลางป่าลึก ไม่ยอมออกมาเผชิญหน้ากับผู้ใดอีกนับแต่นั้น (บางตำนานก็เล่าว่า นางเสียใจและอับอายมากจนตรอมใจตายในถ้ำแห่งนั้นเลย)

ทว่า เหตุการณ์ทั้งหมดนั้นได้อยู่ในสายตาของ เทพีอะโฟรไดต์ (Aphrodite) หมดแล้ว นางสงสารเอคโคอย่างมาก และโกรธเรื่องที่นาร์ซิสซัสหลงตัวเองจนพาลดูถูกความรู้สึกของผู้อื่นไปเสียหมด เทพีอะโฟรไดต์จึงสาปนาร์ซิสซัสให้เขา จงหลงรักรูปเงาของตนเองซะ!

ในตอนที่นาร์ซิสซัสก้มตัวลงริมธารเพื่อวักน้ำดื่ม ทันใดนั้นเขาก็ได้เห็นภาพสะท้อนใบหน้าของตัวเองและตกหลุมรักอย่างจังตั้งแต่แรกพบ เหมือนอย่างที่เอคโคเคยหลงรักเขา

เอคโคกับนาร์ซิสซัส (Echo and Narcissus)

(ภาพ เอคโคกับนาร์ซิสซัส (Echo and Narcissus)วาดโดย : จอห์น วิลเลียม วอเตอร์เฮาส์ (John William Waterhouse) ในปี ค.ศ. 1903)

ความรักทำให้นาร์ซิสซัสไม่อาจตัดใจให้คนในภาพสะท้อนผู้นั้นเร้นหายจากสายตาไปได้แม้แต่วินาทีเดียว เขาเฝ้ามองคนรักวันแล้ววันเล่า กาลเวลาผันผ่าน ร่างกายซูบผอมจนไม่อาจทนไหวอีกต่อไป

นาร์ซิสซัสตรอมใจ และสิ้นไปที่ริมธารนั่นเอง ร่างงดงามของเขากลายเป็นดอกนาร์ซิสซัสเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่เขา และชื่อนาร์ซิสซัส ก็เป็นที่มาของ โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Inventory) อาการทางจิตเวชประเภทหนึ่ง

นอกจากตำนานที่เล่าว่าเอคโคตรอมใจตายในถ้ำหลังจากถูกนาร์ซิสซัสไล่ตะเพิดแล้ว ยังมีอีกตำนานที่เล่าว่านางยังคงมีชีวิตอยู่ และได้พานพบกับเทพแพน…

ตำนานรักครั้งใหม่ ของ ‘เทพแพน’ และ ‘เอคโค’

ตำนานหนึ่งเล่าว่า หลังจากเทพแพนไม่สามารถครอบครองซีริงซ์ได้ เขาได้ตัดต้นอ้อซีริงซ์มาทำเป็นขลุ่ยแพน และบรรเลงเพลงขลุ่ยเพื่อรำลึกถึงนางตลอดกาล แต่หลังจากนั้น… เขาก็ได้พบรักครั้งใหม่

ขณะที่เทพแพนท่องเที่ยวไปในป่าใหญ่ และบรรเลงขลุ่ยในยามที่คิดถึงซีริงซ์ ในทุก ๆ ครั้งที่เขาบรรเลง เหล่าสรรพชีวิตทั่วป่ารวมถึงเหล่านางไม้จะออกมาฟัง และโชคชะตาก็นำพาเอคโคให้มาพบกับเขา

เอคโค (Echo)

(ภาพ เอคโค (Echo) วาดโดย : ทัลบอต ฮิวจ์ส (Talbot Hughes))

เทพแพนเห็นเอคโคมาฟังเพลงขลุ่ยของเขาบ่อย ๆ และตกหลุมรักนางขึ้นเรื่อย ๆ เขาชอบที่จะได้รับความสนใจจากเอคโค วันหนึ่งจึงได้โอกาสแสดงออกถึงความรักที่มีให้นางได้รับรู้ไป

หากแต่เอคโคที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิฤทธิ์ของคำสาป แม้นางจะชื่นชมความสามารถทางดนตรีของเทพแพนเพียงไร ชอบติดตามไปพบเมื่อเขาเริ่มบรรเลงเพลงมากเท่าใด นางก็ไม่อาจตอบสนองต่อความรักของเขาได้

ความรักครั้งนี้จบด้วยโศกนาฏกรรมอันแสนเศร้า ที่สะท้อนให้เห็นความซับซ้อนของความรักและการสื่อสาร ความคับข้องใจที่อาจเกิดขึ้นเมื่อความรักไม่ได้รับการตอบสนองเนื่องจากปัจจัยภายนอกมาขัดขวางความรู้สึกภายใน แม้เทพแพนกับเอคโคจะใจตรงกัน แต่ผลจากคำสาปทำให้เอคโคไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกของตนเองออกไปได้

ตำนานของเทพแพนและเอคโค จึงเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่แสดงให้เห็นด้านอื่น ๆ ของเทพ เทพี และนางไม้ ความเปราะบางของจิตใจ ความสุข ความเศร้าหมอง และความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ 

เทพแพนในวัฒนธรรมอื่น ๆ

เทพแพนนั้นค่อนข้างทรงอิทธิพลระดับหนึ่งเลยทีเดียว เขาได้ปรากฏตัวในหลาย ๆ วัฒนธรรม เช่น ในวัฒนธรรมอียิปต์ หลังจากที่ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) พิชิตอียิปต์แล้ว ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชาวกรีกและชาวอียิปต์ขึ้น 

รวมถึงเรื่องความเชื่อทางจิตวิญญาณอื่น ๆ ด้วย เทพเจ้าอียิปต์บางองค์จึงมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเทพเจ้าของกรีกโบราณ เทพแพนก็เป็นหนึ่งในนั้น

ซึ่งเทพแพนมีความเชื่อมโยงกับ เทพเจ้าอามุน (Amun, Amon) ของอียิปต์ อันมีความเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ และมีสัญลักษณ์เป็นแกะตัวผู้เช่นกัน

เทพเจ้าอามุน (Amun, Amon)

(เทพเจ้าอามุน (Amun, Amon) ของอียิปต์)

นอกจากนี้เทพแพนยังมีอิทธิพลในบางภูมิภาคของเซลติกด้วย โดยรูปลักษณ์ของเทพแพนอาจมีอิทธิพลต่อเทพในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ชนบท และความอุดมสมบูรณ์ ความคล้ายคลึงกันนี้สามารถพบได้ในเทพเจ้าที่มีเขา ซึ่งปรากฎในศิลปะเซลติกและตำนานพื้นบ้าน

แต่อิทธิพลหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ มีข้อสันนิษฐานว่าเทพแพนอาจเป็นหนึ่งในอิทธิพลที่ทำให้เกิดภาพ ซาตานมีเขาแพะ ขึ้น ซึ่งเป็นภาพจำรูปลักษณ์ซาตานที่เราคุ้นเคยกัน ด้วยนิสัยเจ้าชู้ เจ้าคารม มากตัณหา จึงทำให้เทพแพนถูกนำมาเชื่อมโยงกับซาตานนั่นเอง

ปีศาจบาโฟเมต (Baphomet)

(ภาพ ปีศาจบาโฟเมต (Baphomet) วาดโดย : เอลีฟาส เลอวี (Eliphas Lévi))

ไม่ว่าใครจะกล่าวขวัญถึงความเจ้าชู้และนิสัยด้านลบของเขาอย่างไร แต่ตำนานต่าง ๆ ที่ฉันนำมาเล่าให้ทุกคนฟังก็ได้เปิดเผยนิสัยด้านอื่น ๆ ของเทพแพนที่น่าจดจำไว้ไม่แพ้กัน

เทพแพนนั้นทั้งร่าเริง มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถด้านการดนตรี แม้จะหน้าหม้อไปบ้าง แต่นั่นก็เป็นแค่ตำนานที่ถูกเล่าต่อกันมาปากต่อปากเท่านั้น

ฉะนั้นต้องฟังหูไว้หู จดจำความน่ารักของเขาไว้ทำตาม จดจำความไม่ดีของเขาไว้เตือนใจ และเสพนิทานให้สนุก หลังจากนี้ฉันว่าจะไปหาเพลงเพราะ ๆ ที่บรรเลงจากขลุ่ยแพนฟังสักบท เพราะเรื่องราวของเขา ทำให้เสียงขลุ่ยแพนไพเราะขึ้นเป็นกอง  

Loading

ผู้เขียน

  • malyn

    แม่มดฝึกหัดตัวน้อย ผู้หลงใหลในเรื่องลึกลับสุดหัวใจ

    View all posts