สายรุ้ง คือสัญลักษณ์แห่งโชคดี และความหวังหลังจากผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ มาเหมือนกับฟ้าหลังฝน
สายรุ้งดึงดูดจินตนาการ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับมนุษย์มาเนิ่นนานนับหลายศตวรรษ
มีตำนานความเชื่อมากมายเกี่ยวกับสายรุ้งเจ็ดสี ที่ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์จะบอกว่าสายรุ้งเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
แต่ในยามที่คุณทอดสายตาไปยังฟากฟ้าหลังฝนสลาย เห็นเจ้ารุ้งตัวยาวกำลังนอนแผ่หลาอยู่เบื้องหน้า
คุณไม่มีทางปฏิเสธได้แน่ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิต คุณก็เคยเฝ้าฝันถึงสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ ที่อาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปรากฏตัวของสายรุ้ง
ตำนานสายรุ้งจากทั่วโลก
- รุ้งเป็นสัตว์
หลาย ๆ คนต้องไม่เคยรู้มาก่อนแน่ ๆ แต่ตามความเชื่อของไทยเรานั้น ว่ากันว่าความจริงแล้ว รุ้งเป็นสัตว์ในเทพนิยาย มีลักษณะเป็นนกเหยี่ยวขนาดใหญ่ ดุร้าย ชอบกินคนเป็นอาหาร
เมื่อนกรุ้งลงมากินอาหารหรือกินน้ำ จะมีแสงสีเป็นแถบเจ็ดสีไล่หลังตามมา เรียงได้ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง จึงเป็นที่มาของคำว่า รุ้งกินน้ำ และเรียกลักษณนามสายรุ้งว่า ตัว
มีตำนานกล่าวว่า เทวดาที่ต้องการจะลงโทษเหล่ามนุษย์ผู้ที่ไม่อยู่ในศีลธรรม มักจะส่งนกรุ้งลงมากินผู้คนจนหมดเมือง เช่น
ในชาดกเรื่อง คัทธนชาดก (คัด-ทะ-นะ-ชา-ดก) พญาแถนได้ส่งรุ้งสองตัวลงมากินชาวเมืองจนหมด พระคัทธนามต้องใช้ไม้กายสิทธิ์ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น ชี้รุ้งให้ตายและชี้ชาวเมืองให้ฟื้นกลับคืนมา
อีกเรื่องหนึ่งที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดี ก็คือวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี ของ พระสุนทรโวหาร (ภู่) ที่มีตอนหนึ่ง พูดถึงฉากที่สุดสาครตัวน้อยโดนชีเปลือยหลอกเพื่อขโมยไม้เท้า แล้วผลักสุดสาครตกลงไปในเหว พระฤาษีเลยขี่รุ้งมาช่วยไว้
ถึงตรงนี้นักวิชาการบางคนก็ยังเถียงกันอยู่เลยว่า รุ้งที่พระฤาษีขี่นั้น แท้จริงแล้วคือรุ้งกินน้ำ หรือเป็นนกรุ้งกันแน่
บางคนให้เหตุผลมาว่า พระฤาษียังเคยขี่เมฆเลย นับประสาอะไรกับรุ้งกินน้ำล่ะ แถมนกรุ้งน่ะอยู่ในท้องนาป่าเขา จะมาอยู่บนเกาะแก้วพิสดารกลางทะเลได้ยังไง
(ภาพ เหยี่ยวรุ้ง หรือ อีรุ้งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535)
อีกคนก็ไปเถียงว่า รุ้งกินน้ำน่ะเกิดขึ้นเฉพาะหลังฝนตกเท่านั้นแหละ ที่เกาะแก้วพิสดารฝนไม่ได้ตกซะหน่อย พระฤาษีจะไปจับรุ้งที่ไหนมาขี่ แล้วอีกอย่างนะ ม้านิลมังกรยังมีได้ นับประสาอะไรกับนกรุ้งที่จะมีไม่ได้เล่า
ทุกคนคิดว่า… แบบไหนเป็นไปได้มากกว่ากันคะ ระหว่างฤาษีขี่รุ้งกินน้ำ กับฤาษีขี่นกรุ้ง?
- รุ้งคือความหวัง
ในหลายวัฒนธรรม มองว่าสายรุ้งคือสัญลักษณ์ของความหวังและการเริ่มต้นใหม่
เมื่อสายรุ้งพาดผ่านฟ้าหลังพายุสลาย นั่นเป็นสัญญาณว่าช่วงเวลาที่ดีกว่ากําลังจะมาถึง
คาบเกี่ยวกับความเชื่อของไทยโบราณอีกตำนาน ที่กล่าวว่า เนื่องจากสายรุ้งเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและความดีงาม ปรากฏขึ้นเพื่ออำนวยพรให้แก่ผู้คนและโลกใบนี้
ดังนั้น เทวดาและเหล่าวิญญาณจึงมารวมตัวกันใกล้สายรุ้งเพื่อปกปักรักษาสัญลักษณ์อันเป็นมงคลไว้
คนโบราณจึงมักบอกเด็ก ๆ ว่า อย่าชี้รุ้งเด็ดขาด เพราะถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และเป็นอาถรรพ์ว่าอายุขัยอาจสั้นลงเจ็ดวันเท่ากับแถบสีรุ้งทั้งเจ็ด
แต่อีกนัยหนึ่ง ก็อาจเป็นเพียงกลอุบายป้องกันเด็ก ๆ จะชี้นิ้วจนไปจิ้มตากันเองเท่านั้น
- สะพานของเทพเจ้า
ในตำนานนอร์ส บิฟรอสต์ (Bifröst) คือสะพานสายรุ้งที่เชื่อมต่อ มิดการ์ด หรือ โลกมนุษย์ (Miðgarðr) กับ แอสการ์ด หรือ อาณาจักรเทพเจ้า (Ásgarðr)
ว่ากันว่าเป็นสะพานที่ส่องแสงพร่างพราวระยิบระยับ และมีเพียงเทพเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถข้ามไปได้
- เทพเจ้างูสายรุ้ง
วัฒนธรรมของชาวอะบอริจิน มีตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้างูสายรุ้งผู้ทรงพลังและเปี่ยมเมตตา เทพเจ้างูสายรุ้งเป็นผู้บันดาลให้เกิดแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ทะเลสาบ และบ่อน้ำ เป็นต้น
- สะพานสู่โลกหน้า
ชนพื้นเมืองอเมริกัน ฮาวาย และชนพื้นเมืองอื่น ๆ บางกลุ่ม เชื่อว่าสายรุ้งเป็นเส้นทางสู่ชีวิตหลังความตาย ว่ากันว่าเหล่าวิญญาณต้องเดินข้ามสะพานสายรุ้งเพื่อไปยังโลกหน้า
- โหลทองคำแฟรี่ ณ ปลายสายรุ้ง
ในตำนานไอริช เล็ปเพรอะคอนส์ (Leprechauns) คือแฟรี่ตัวน้อยที่เฝ้าโหลใส่เหรียญทองคำอยู่ ณ ปลายสายรุ้ง
ถ้าจับเล็ปเพรอะคอนส์ไว้ได้ เขาจะให้เหรียญทองคำมาเพื่อแลกกับอิสรภาพ
แต่เหรียญทองคำของเล็ปเพรอะคอนส์นั้นไม่ใช่สิ่งที่เชื่อถือได้ เพราะหากลองสังเกตอีกครั้ง เหรียญทองนั้นอาจกลายเป็นเศษใบไม้ ก้อนหิน เค้กชิ้นเล็ก หรือเห็ดพิษไปแล้ว
- คําพยากรณ์โฮปี
ชาวโฮปี (Hopi) เป็นชนพื้นเมืองอเมริกัน มีคําทํานายว่า เมื่อไรที่ ดวงดาวคาชินาสีน้ำเงิน (Blue Kachina) อันเป็นวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับเทพโฮปีปรากฏบนท้องฟ้า นั่นคือสัญญาณการประกาศวันสิ้นโลก
และหลังจากหายนะผ่านพ้น จะปรากฏสายรุ้งงามสดใส เป็นสัญญาณถึงการเริ่มต้นยุคใหม่แห่งสันติภาพ
*
ตํานานและเรื่องราวเกี่ยวกับสายรุ้งทั้งหลาย ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ความลึกลับของตำนานและวัฒนธรรมแปลก ๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็เต็มไปด้วยเสน่ห์มนตร์ขลังอันน่าค้นหาเกินกว่าตัดใจเชื่อได้ลงว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติธรรมดา ๆ
แล้วทุกคนล่ะคะ มีความเชื่ออะไรเกี่ยวกับสายรุ้งที่แปลกนอกเหนือจากนี้บ้างไหม อย่าละทิ้งความเชื่อนั้นไปนะคะ เพราะไม่แน่ว่า มันอาจจะเป็นจริงก็ได้ ไม่มีใครรู้ความลับเบื้องหลังการปรากฏตัวของรุ้งจริง ๆ นี่นา…
มาลินทร์, แม่มดฝึกหัด
บรรณารักษ์
*
บรรณานุกรม
บรรพต เวชกามา. (2560). สุนทรภู่แต่งพระอภัยมณี ให้-พระฤๅษีขี่รุ้งกินน้ำ หรือ-ขี่พญาเหยี่ยวรุ้ง. สืบค้นจาก : www.silpa-mag.com
สมชาย ฟ้อนรำดี. (2560). พระฤาษีขี่รุ้ง (กินน้ำ) ไม่ใช่พญาเหยี่ยวรุ้ง. สืบค้นจาก : www.silpa-mag.com
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). รุ้ง. สืบค้นจาก : www.legacy.orst.go.th
BIFROST. สืบค้นจาก : www.norse-mythology.org
Anna Claybourne. (2022). The Fairy Atlas. Great Britain : Laurence King Publishing.