แวมไพร์ (Vampire) หนึ่งในปีศาจที่ครองหัวใจผู้คนได้มากที่สุด
ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และนิยายเกี่ยวกับแวมไพร์มีอยู่มากมายจนแทบเลือกดูเลือกอ่านไม่ไหว
แต่ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่า บรรดาตัวละครมากมายในโลกแสนมหัศจรรย์นี้ ทำไมแวมไพร์จึงถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง
ทั้งในแดนตะวันตกและตะวันออก…
ทำไมใคร ๆ ก็ชอบแวมไพร์ ?
นับตั้งแต่นวนิยายเรื่อง แดรกคูลา (Dracula) เขียนโดย แบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1897
ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ไปทั่ววงการหนังสือ
จนเกิดการถ่ายทอดแรงบันดาลใจไปสู่นวนิยายเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับแดรกคูลา นักฆ่าผู้สมบูรณ์แบบ และเย้ายวนใจ มานับแต่นั้น
(นวนิยายเรื่อง แดรกคูลา (Dracula) เขียนโดย แบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1897 เป็นจุดเริ่มต้นของภาพลักษณ์แวมไพร์ ปีศาจผู้เย้ายวนใจ)
แวมไพร์กลายเป็นปีศาจที่มีภาพลักษณ์เย้ายวนใจ มีเสน่ห์หล่อเหลา สมบูรณ์แบบ และเป็นอมตะ ซึ่งถูกสืบทอดมาจนถึงสื่อสมัยนิยมในปัจจุบัน
เหล่านักเขียนรุ่นใหม่ที่เป็นทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้เสพสื่อ ใครล่ะจะอดใจไหวกับพล็อตเรื่องปีศาจผู้แสนรัญจวนใจนี้
หลังจากนั้นก็เกิดสื่อต่าง ๆ มากมายที่ถ่ายทอดเรื่องราวของแวมไพร์ออกมา ปรับเปลี่ยนช่วงวัยของปีศาจร้ายให้มีอายุใกล้เคียงกับวัยรุ่นหนุ่มสาว และสตัฟฟ์วัยแรกแย้มนั้นไว้ชั่วนิรันดร์
(ภาพยนตร์เรื่อง ทไวไลต์ (Twilight) เขียนโดย สเตฟานี เมเยอร์ (Stephenie Meyer) กำกับโดย แคทเธอรีน ฮาร์ดวิก (Catherine Hardwick) ได้ปลุกกระแสแวมไพร์ผู้หล่อเหลาให้โด่งดังในหมู่วัยรุ่นอย่างมาก)
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทุก ๆ ครั้งที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับแวมไพร์และมนุษย์ มักจะหนีไม่พ้นเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ เสมอ แล้วก็ชี้นำให้มีความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในหัวว่า ‘อาจมีแวมไพร์ปะปนอยู่กับเราจริง ๆ ก็ได้นะ !’
ซึ่งความคิดเล่น ๆ นี่เอง ที่ยิ่งทำให้เรื่องนี้น่าหลงใหลและ เหมือนจะ จับต้องได้มากขึ้น นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้คนโหยหา อยากจะโดนแวมไพร์ฝังเขี้ยวที่ซอกคอสักครั้งในชีวิต
(ซีรีส์เรื่อง The Vampire Diaries เขียนโดย แอล.เจ. สมิธ (L. J. Smith) สร้างซีรีส์โดย เควิน วิลเลียมสัน (Kevin Meade Williamson) และ จูลี เพล็ก (Julie Plec))
ประวัติศาสตร์แวมไพร์
ย้อนกลับไปในสมัยกรีกโบราณ ได้มีสิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายแวมไพร์ปรากฏตัวขึ้น พวกมันคือปีศาจในตำนานที่มีนิสัยชอบล่อลวง ทำร้ายผู้คน และออกหากินในเวลากลางคืน
ตำนานเหล่านี้ถูกสันนิษฐานว่าอาจเป็นหนึ่งในต้นแบบการกำเนิดขึ้นของแวมไพร์
ปีศาจชนิดแรกที่ถูกเชื่อมโยงกับแวมไพร์คือ ‘เอมปูซา (Empusa / Empousa)’
เอมปูซาเป็นปีศาจดุร้ายที่ชอบจำแลงกายเป็นหญิงสาวสวย เพื่อหลอกล่อชายหนุ่มและเด็กมากินเป็นอาหาร
ตามตำนานเล่าว่า ร่างที่แท้จริงของเอมปูซานั้น นอกจากหน้าตาที่น่าเกลียดน่ากลัวแล้ว เอมปูซาจะมีเปลวไฟลุกโพลงอยู่รอบศีรษะ
ขาข้างหนึ่งของมันจะทำมาจากทองแดงหรือทองสัมฤทธิ์ บางตำนานก็บอกว่าขาข้างหนึ่งของมันเป็นขาลา
ปีศาจชนิดที่สองคือ ‘เลเมีย (Lamia)’ เป็นปีศาจร้ายกระหายเลือดครึ่งมนุษย์ครึ่งงูที่มีสองเพศในตนเดียว
(ภาพแกะสลักไม้ของ เลเมีย (Lamia) ตามตำนาน เมื่อปี ค.ศ. 1607 ซึ่งมีหัวและหน้าอกเป็นผู้หญิง มีลำตัวเป็นงู และมีอวัยวะเพศของผู้ชาย ภาพจาก SCIENCE & SOCIETY PICTURE LIBRARY / GETTY IMAGES)
อริสโตฟาเนส (Aristophanes) นักเขียนบทละครตลกชาวกรีกโบราณ (ประมาณ 460 ถึง 380 ปีก่อนคริสตกาล) ได้บันทึกไว้ว่า
“มันมีเสียงเหมือนกระแสน้ำเชี่ยวกรากลั่นคำราม กลิ่นเหม็นสาปเหมือนแมวน้ำ ลูกอัณฑะสกปรก และก้นก็เหมือนกับอูฐ”
ตำนานเล่าว่า เลเมียอาศัยอยู่ในถ้ำที่คลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นเน่า มันชอบจำแลงกายมาในรูปลักษณ์ของหญิงสาวสวย เพื่อล่อลวงผู้ชายและเด็กไปกินเป็นอาหาร
บางครั้งก็แอบคืบคลานเข้าไปในบ้านยามราตรี ขโมยเด็กทารกออกมาจากเปล และทรมานคนที่กำลังหลับใหลจนตาย
ความชั่วร้ายของมันนี่เอง ทำให้เลเมียกลายเป็นต้นแบบของแวมไพร์ในยุคแรก ๆ
ปีศาจชนิดที่สามคือ ‘สตริจส์ (Striges / Striga / Strix)’ เป็นปีศาจในตำนานพื้นบ้านของชาวกรีก-โรมัน
สตริจส์คือแม่มดที่ชอบใช้เวทมนตร์แปลงกายเป็นนกฮูกกรีดในเวลากลางคืน
รูปร่างนั้นถูกพรรณนาไว้ว่า เป็นนกกระหายเลือดที่มีกรงเล็บขนาดใหญ่ มีหัวผิดรูป และหน้าอกที่เต่งไปด้วยนมพิษ
สตริจส์จะออกล่าเหยื่อที่เป็นทารกหรือผู้ชายเพื่อดื่มเลือด และดูดพลังชีวิต บางครั้งก็กินอวัยวะภายในของเหยื่อด้วย
กล่าวกันว่าเนื้อและเลือดของมนุษย์คืออาหารโปรดที่สุดของมัน โดยเฉพาะตับและอวัยวะภายใน
สตริจส์เป็นหนึ่งในต้นแบบของแวมไพร์ในแง่ของปีศาจร้ายที่ออกล่าเหยื่อยามค่ำคืน แต่ต่างจากแวมไพร์ตรงที่ มันไม่ได้ฟื้นขึ้นมาจากความตาย
หนึ่งในต้นแบบน่าสนใจที่เป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดของแวมไพร์เช่นกัน มาจากตำนานพื้นบ้านของนอร์สโบราณ
พวกเขามีความเชื่อเรื่องสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ฟื้นขึ้นมาจากความตาย เรียกกันว่า ‘ดราเกอร์ (Draugr / Draugen / Draugur / Dreygur)’
(ภาพ ดราเกอร์ (Draugr) จากนิทานพื้นบ้านสแกนดิเนเวียสมัยใหม่ วาดโดย ธีโอดอร์ คิตเทลเซน (Theodor Kittelsen))
ตามตำนานเล่ากันว่า ดราเกอร์คือศพของผู้เป็นที่รักที่ตายจากไปแล้ว ซึ่งฟื้นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้งในหลุมศพหรือสุสาน เพื่อปกป้องสมบัติที่ถูกฝังลงดินไว้ด้วยกัน
ดราเกอร์จึงเป็นผีประเภทหนึ่งที่มีร่างกาย ต่อสู้ได้เมื่อถูกยั่วยุ และต่างจากวิญญาณที่เป็นพลังงานไร้รูปร่าง
ซึ่งแนวคิดเรื่อง ศพคืนชีพ (Undead) นี้เองที่มีความคล้ายคลึงบางอย่างกับตำนานของแวมไพร์
ต่อมาในสมัยของยุโรปยุคกลาง เวลานั้นได้มีโรคระบาดมากมายเกิดขึ้น ในขณะที่ผู้คนทั่วไปยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและวิธีการรักษา
พวกเขาจึงเชื่อว่ามันอาจเป็นคำสาปหรือเวทมนตร์ร้ายที่ทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นแวมไพร์ และพวกเขาจะกลับมาจัดการกับคนในครอบครัวของตนเองก่อนเป็นรายแรก
จากการวิจัยในช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 ระบุว่า ย้อนกลับไปสมัยนั้น ได้มีโรคชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘พอร์ฟีเรีย (Porphyria)’ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับตำนานแวมไพร์ที่ทำให้ผู้คนหวาดกลัวได้
(หญิงสาวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแวมไพร์ ระหว่างฝังร่าง ชาวบ้านได้นำเคียวมาวางพาดไว้บนคอของเธอ พบที่เมืองเปียน ประเทศโปแลนด์)
โรคพอร์ฟีเรียนั้นเป็นโรคเลือดที่ทำให้เกิดแผลพุพองรุนแรงบนผิวหนังเมื่อโดนแสงแดด ซึ่งบางอาการก็สามารถบรรเทาได้ชั่วคราวด้วยการดื่มเลือด
แต่นอกจากนี้ก็ยังมีโรคอื่น ๆ ที่อาจบังเอิญไปส่งเสริมความเชื่อเรื่องแวมไพร์ให้ปะทุเดือดขึ้นมาได้เหมือนกัน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า และโรคคอพอก เป็นต้น
ส่วนเรื่องตำนานที่เล่าลือกันว่าแวมไพร์คือศพที่คืนชีพจากความตายนั้น มีข้อสันนิษฐานว่า
ความเชื่อนี้เกิดขึ้นมาจากความเข้าใจผิด และการไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องกระบวนการย่อยสลายของซากศพ
ตามปกติเมื่อมนุษย์เสียชีวิต ผิวหนังของศพจะหดตัว ทำให้ดูเหมือนว่าฟันและเล็บยาวขึ้น และเมื่ออวัยวะภายในเริ่มย่อยสลาย ก็จะมีเลือดหรือของเหลวไหลออกมาจากจมูกและปากได้
ผู้คนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงอาจตีความไปว่าของเหลวเหล่านี้คือเลือดที่ศพดื่มมาจากสิ่งมีชีวิต
(กะโหลกของผู้หญิงสมัยศตวรรษที่ 16 ถูกพบในสภาพมีก้อนอิฐวางอยู่ในปาก ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี)
อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งที่อาจเป็นไปได้เหมือนกันคือ
เนื่องจากข้อจำกัดของการวินิจฉัยทางการแพทย์ในสมัยนั้น ทำให้อาจเข้าใจผิดว่าคนไข้ที่ป่วยหนัก หรือคนที่เมามาก หรือคนที่อยู่ในอาการโคม่าหรือตกใจจนถูกเข้าใจผิดว่าเสียชีวิตแล้ว จึงมีการนำร่างไปฝัง
แต่ในเวลาต่อมากลับพบว่าร่างนั้นได้ฟื้นขึ้นมา กลายเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ ก็อาจเป็นต้นแบบของความเชื่อเรื่องศพที่คืนชีพจากความตายได้
ความเชื่อเรื่องแวมไพร์นี้นำไปสู่พิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การปักหมุดที่หัวใจของศพก่อนจะนำร่างไปฝัง, การฝังศพโดยคว่ำหน้าศพลง เพื่อป้องกันไม่ให้ศพลุกขึ้นแล้วหาทางออกจากหลุมได้,
การนำก้อนหินหรืออิฐมายัดปากศพไว้ก่อนนำร่างไปฝัง กระทั่งการแยกชิ้นส่วนศพ เช่น ตัดหัว และเผาศพผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นแวมไพร์ในศตวรรษที่ 19
(โครงกระดูกนี้ถูกแทงหน้าอกด้วยเหล็ก จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติในเมืองโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย (National History Museum in Sofia))
แวมไพร์ในตำนานของชาวสลาฟ
หากนับตามตำนานต้นแบบต่าง ๆ (ที่อาจมีมากกว่าที่ยกตัวอย่างมาข้างบน) จะเห็นว่าแวมไพร์ไม่ใช่ปีศาจที่ถือกำเนิดขึ้นเป็นตัวเป็นตนตั้งแต่แรก
แต่แวมไพร์ถูกสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และต่อยอดตามจินตนาการสู่ยุคปัจจุบัน
นอกจากตำนานต้นแบบจากข้อสันนิษฐานแล้ว ยังมีอีกตำนานหนึ่งที่มีการศึกษามาเช่นกัน คือ แวมไพร์ในฐานะตัวอันตราย มีต้นกำเนิดจากยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะในบัลแกเรียเมื่อพันปีก่อน
แต่เป็นตำนานที่ไม่แพร่หลายหรือเป็นที่รู้จักกันนัก เพราะเรื่องแวมไพร์นี้จะเล่าสืบต่อกันมาในหมู่ชาวสลาฟ (Slavic people) เท่านั้น
โดยคำว่าแวมไพร์ แปลว่า ‘สัตว์ประหลาดผี (Ghost monster)’ ซึ่งคำนิยามนี้ บ่งบอกคุณลักษณะของแวมไพร์ตามความเชื่อในยุคแรก ๆ ได้เป็นอย่างดี
(ภาพพิมพ์หินรูป ‘แวมไพร์ (Vampire)’ จากหนังสือเรื่อง Les Tribunaux Secrets โดยจิตรกรชาวฝรั่งเศสชื่อ ‘เรเน หลุยส์ ปิแอร์ มอเรน (R. de Moraine / René Louis Pierre Moraine)’ เป็นภาพของชาวเมืองที่กำลังเผาโครงกระดูกของแวมไพร์หลังจากขุดขึ้นมา)
แวมไพร์ของชาวสลาฟนั้นไม่มีร่างกาย ซึ่งจะคล้ายกับโพลเตอร์ไกสต์ (Poltergeist) หรือปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้มากกว่า
แวมไพร์นั้นเป็นตัวสร้างความหายนะ และเชื่อว่าเป็นตัวแพร่โรคร้ายในหมู่บ้าน แต่แวมไพร์ไม่ได้สร้างแวมไพร์ตัวอื่น ๆ ขึ้นมาด้วยการกัด รวมถึงมันไม่ได้ดื่มเลือดด้วย
แวมไพร์เริ่มเข้าสู่ประวัติศาสตร์ตะวันตก ผ่านสงครามทางความเชื่อ ในปี ค.ศ. 1686 (หกปีก่อนการพิจารณาคดีแม่มดแห่งซาเล็ม)
ประชาชนที่พูดภาษาเยอรมันของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้เข้าควบคุมฮังการี และด้วยเหตุนี้จึงได้เข้าควบคุมประชากรชาวสลาฟด้วย
กองทหารของจักรวรรดิโรมันได้รู้จักตำนานแวมไพร์จากชาวนาสลาฟระหว่างการยึดครอง แล้วได้เผยแพร่แนวคิดนี้ไปสู่ศูนย์กลางที่มีความเป็นสากล เช่น เวียนนาและเบอร์ลิน
จากนั้นความเชื่อเรื่องแวมไพร์ก็ย้ายไปยังปารีส จากปารีสถึงลอนดอน จากลอนดอนสู่อเมริกา
โดยคำว่าแวมไพร์ เพิ่งปรากฏครั้งแรกในภาษาอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1732 (ปีเดียวกับที่ จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาเกิด) นี่เอง
ทำไมแวมไพร์ต้องดื่มเลือด
ในการเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตก ตำนานแวมไพร์ก็ได้รับคุณสมบัติใหม่ ๆ
แทนที่จะเป็นผี แวมไพร์เริ่มกลายเป็นศพที่ฟื้นคืนชีพ มีร่างกายสมบูรณ์ สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือแวมไพร์จำเป็นต้อง ‘ดื่มเลือด’
สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในตำนานนี้เป็นแนวคิดของชาวตะวันตกในศตวรรษที่ 18 ซึ่งการดื่มเลือดได้เพิ่มองค์ประกอบทางวิทยาศาสตร์ให้กับความเชื่อของแวมไพร์มากขึ้น
สำหรับผู้คนในสมัยนั้น การดื่มเลือดทำให้แวมไพร์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น มีตัวตนมากกว่าไม่มีตัวตน และเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าเหนือธรรมชาติ
ชาวตะวันตกกำลังก้าวข้ามยุคแห่งความเชื่อโชคลาง (ความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถาถูกลดทอนลงในอังกฤษและอาณานิคมเมื่อปี ค.ศ. 1735)
ดังนั้น เมื่อเหล่าปัญญาชนในยุคนั้นได้รับคำให้การเกี่ยวกับแวมไพร์ พวกเขาจึงมองว่าการดูดเลือดเป็นโรค มากกว่าเป็นเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ
ถือเป็นเรื่องดีและน่าสนใจมาก ที่เหล่าปัญญาชนในยุคนั้นไม่ได้ละทิ้งตำนานไปโดยสิ้นเชิง แต่พวกเขากลับพยายามอธิบายปรากฏการณ์นี้ตามหลักวิทยาศาสตร์
ในช่วงทศวรรษที่ 1700 มีความเชื่อว่าเลือดมนุษย์มีคุณสมบัติเป็นยา และผู้คนทุกระดับในสังคมบริโภคเลือดเป็นยาอย่างกว้างขวางทั่วยุโรปและอเมริกา
ขณะเดียวกันเลือดก็มีราคาถูกมาก เนื่องจากการเอาเลือดออกเป็นความรู้พื้นฐานของแพทย์อยู่แล้ว ทุกวันนี้นักประวัติศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า ‘การกินเนื้อคนเป็นยา (Medical Cannibalism)’
(ภาพ ‘การกินเนื้อคนเป็นยา (Medical Cannibalism)’ ในประเทศบราซิล เมื่อปี ค.ศ.1557 วาดโดย ‘ธีโอดอร์ เดอ บรี (Théodore de Bry)’ เมื่อปี ค.ศ. 1562 จากคำอธิบายของ ‘ฮันส์ สตาเดน (Hans Staden)’ (ปี ค.ศ. 1525-1576))
ผู้คนเชื่อกันว่า เลือดคือสิ่งเชื่อมโยงระหว่างร่างกายและจิตวิญญาณมนุษย์ การดื่มเลือดจึงสามารถดูดซึมพลังชีวิตได้ และยาที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของมนุษย์ไหลเวียนอยู่ภายใน ย่อมต้องดีกว่ายาชนิดใดทั้งมวล
ในช่วงทศวรรษที่ 1700 เลือดมนุษย์จึงถูกกำหนดไว้ว่าเป็นยาที่สามารถรักษาได้ทุกอย่าง ตั้งแต่โรคลมบ้าหมู ไปจนถึงภาวะสายตาผิดปกติ
แวมไพร์แห่งตะวันตกจึงเริ่มมีความรู้และความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น กระทั่งเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตที่ตายไปแล้วนั้นต้องดื่มเลือดเพื่อฟื้นฟูพลังชีวิต
ซึ่งจุดเปลี่ยนจากการดื่มเลือดนี้เอง ที่ทำให้แวมไพร์เริ่มถอยห่างจากความเป็น ‘สัตว์ประหลาดผี’ สู่การเป็น ‘แดรกคูลา (Dracula)’
ศพต้องสงสัย
‘เมอร์ซี บราวน์ (Mercy Brown)’ ถือเป็นคู่แข่งกับท่านเคานต์แดรกคูลาในฐานะแวมไพร์ที่โด่งดังที่สุด
แต่ทั้งสองต่างกันตรงที่ ท่านเคานต์แดรกคูลาเป็นตัวละครจากหนังสือ แต่เมอร์ซีมีตัวตนอยู่จริง
เมอร์ซีอาศัยอยู่ในเมืองเอ็กซีเตอร์ รัฐโรดไอแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอเป็นลูกสาวชาวไร่ชื่อ จอร์จ บราวน์ (George Brown)
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1892 ร่างของเมอร์ซีถูกขุดขึ้นมาในสภาพที่ยังสมบูรณ์ ทำให้หลายคนเชื่อว่าเธอเป็นแวมไพร์ที่ทำให้ครอบครัวเสียชีวิต
(‘เมอร์ซี บราวน์ (Mercy Brown)’ เกิดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1872 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มกราคม ปี ค.ศ. 1892 เมื่ออายุ 19 ปีบริบูรณ์)
เรื่องราวของเมอร์ซีผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแวมไพร์แพร่หลายไปทั่ว จนทำให้โรดไอแลนด์กลายเป็นรัฐที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองหลวงของแวมไพร์แห่งอเมริกา’
(ภาพข่าวของ ‘เมอร์ซี บราวน์ (Mercy Brown)’ จากหนังสือพิมพ์ The Day (New London, Connecticut) ชื่อเรื่อง Did Mercy Brown Become a Vampire? เขียนโดย กอร์ดอน อเล็กซานเดอร์ (Gordon Alexander)ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1981)
ชาวบ้านในเมืองเอ็กซีเตอร์รู้ว่าชาวไร่ที่ชื่อจอร์จ กำลังประสบกับเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลด
เนื่องจากในปี ค.ศ. 1883 ภรรยาสุดที่รักของเขาชื่อ แมรี บราวน์ (Mary Brown) ได้เสียชีวิตลงด้วยอาการป่วยลึกลับ
หกเดือนต่อมา แมรี โอลีฟ บราวน์ (Mary Olive Brown) ลูกสาววัย 20 ปีของเขาก็ล้มป่วยและเสียชีวิตลงเช่นเดียวกัน
ไม่กี่ปีถัดจากนั้นเมอร์ซีวัย 19 ปีก็เสียชีวิตลงอีก ขณะเดียวกัน เอ็ดวิน บราวน์ (Edwin Brown) ลูกชายวัยรุ่นของจอร์จที่เป็นเด็กสุขภาพแข็งแรงมาโดยตลอด จู่ ๆ ก็ร่างกายทรุดลง และเริ่มป่วยหนัก
แพทย์ประจำหมู่บ้านได้เข้ามาตรวจอาการ แล้วแจ้งแก่จอร์จว่า ‘วัณโรค’ คือเพชฌฆาตที่พรากครอบครัวของเขาไป…
แต่ชาวเมืองเอ็กซีเตอร์ไม่เชื่ออย่างนั้น
บ่ายวันหนึ่งในเดือนมีนาคมอันหนาวเหน็บ ชายกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าไปในสุสานเชสต์นัต ฮิลล์ (Chestnut Hill) จากนั้นก็เริ่มขุดศพของแมรีและลูกสาวสองคนขึ้นมา
พวกเขาเชื่อว่า มีหนึ่งในผู้เสียชีวิตลุกออกจากหลุมศพเวลากลางคืน เพื่อ ดูดดื่ม ชีวิตญาติของตัวเอง และมีเพียงการสังหารแวมไพร์เท่านั้นที่จะช่วยเหลือเอ็ดวินได้
ขั้นแรก พวกเขาตรวจสภาพศพของแมรีและโอลีฟ เมื่อพบว่าทั้งสองร่างย่อยสลายอย่างเหมาะสมตามธรรมชาติก็หันไปขุดหลุมถัดไป
แต่เมื่อขุดศพของเมอร์ซีขึ้นมา คนทั้งกลุ่มก็ต้องผงะแทบหงายหลัง
ศพของเมอร์ซีที่ฝังลงดินเป็นระยะเวลานานกว่าสองเดือนยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์อย่างน่าประหลาด ผมกับเล็บของเธอยาวขึ้น
เมื่อใช้พลั่วแทงอย่างระมัดระวังก็พบว่ามีเลือดสดไหลออกมา พวกเขาเห็นดังนั้นก็ปักใจเชื่อทันทีว่า เมอร์ซีนี่ละ ที่เป็นแวมไพร์!
พวกเขาจัดการควักหัวใจของเมอร์ซีออกมาแล้วเผาบนก้อนหินจนกลายเป็นเถ้าถ่าน จากนั้นก็นำขี้เถ้าจากหัวใจของเมอร์ซีไปทำยาให้เอ็ดวิน
แต่ไม่ถึงสองเดือนหลังจากเหตุการณ์นั้น เอ็ดวินก็เสียชีวิตลง
(หลุมศพของ ‘เมอร์ซี บราวน์ (Mercy Brown)’ ในสุสานเชสต์นัต ฮิลล์ (Chestnut Hill) เมืองเอ็กซีเตอร์ รัฐโรดไอแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้ยังมีคนแวะเวียนไปเยี่ยมหลุมศพของเธออยู่เป็นประจำ)
หากตัดเรื่องความเชื่อเหนือธรรมชาติออกไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สามารถอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ทั้งหมด
อย่างแรก เหตุผลที่สภาพศพของเมอร์ซียังคงสมบูรณ์ดี นั่นก็เพราะศพของเมอร์ซีถูกฝังลงในช่วงสองเดือนที่หนาวที่สุดของปี
ส่วนเพชฌฆาตที่คร่าชีวิตคนในครอบครัวบราวน์ก็คือวัณโรคนั่นเอง
กระนั้น เรื่องราวของเมอร์ซีก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้โรดไอแลนด์ กลายเป็นเมืองหลวงของแวมไพร์แห่งสหรัฐอเมริกา
แต่ฉายานี้มีที่มาหลังจาก แบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง แดรกคูลา (Dracula) ได้เสียชีวิตลง และมีคนพบเรื่องราวของเมอร์ซีในบันทึกของเขา
ตำนานของศพต้องสงสัยยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ถึงขั้นที่บางหลุมศพต้องสงสัยของคนยุคก่อน ๆ จะมีการจารึกคำสาปแช่งไว้เลยทีเดียว
รวมถึงมีความเชื่อในหมู่คนที่ศึกษาเรื่องแวมไพร์ขึ้นมาด้วยว่า หลุมศพของแวมไพร์จะไม่มีพืชหรือไลเคนเติบโต ไม่ว่าจะพยายามปลูกเท่าไรก็ตาม
วิวัฒนาการของแวมไพร์ในนวนิยาย
กำเนิดอัตลักษณ์แวมไพร์
วิวัฒนาการของตำนานแวมไพร์ สันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดมาจากวรรณกรรมยุโรปสไตล์โกธิก (Gothic) ในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19
ซึ่งเป็นช่วงที่แวมไพร์ฮิสทีเรีย หรือโรคอุปาทานหมู่ว่าตัวเองเป็นแวมไพร์กำลังระบาดหนักในยุโรป
ในยุคนี้เอง ได้มีกวีนิพนธ์เกี่ยวกับแวมไพร์ปรากฏขึ้นมาเรื่องแรก ๆ ชื่อเรื่องว่า ‘Der Vampyr’ เขียนโดย ไฮน์ริช ออกัสต์ มาร์ชเนอร์ (Heinrich August Marschner) ในปี ค.ศ. 1748
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแวมไพร์ที่ชอบล่อลวงหญิงสาวบริสุทธิ์
ช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่ 19 เริ่มปรากฏกวีนิพนธ์เกี่ยวกับแวมไพร์เป็นภาษาอังกฤษ เช่น เรื่อง ‘The Vampyre’ เขียนโดย จอห์น สแตกก์ (John Stagg) ในปี ค.ศ. 1810
และ เรื่อง ‘The Giaour’ เขียนโดย ลอร์ดไบรอน (Lord Byron) ในปี ค.ศ. 1813
ส่วนนวนิยายแวมไพร์ที่เขียนเป็นร้อยแก้วภาษาอังกฤษเรื่องแรกนั้น สันนิษฐานว่าเป็นเรื่อง ‘The Vampyre’ เขียนโดย จอห์น โพลิดอรี (John Polidori) ในปี ค.ศ. 1819
เป็นเรื่องราวของขุนนางชื่อ ลอร์ดรูธเวน (Lord Ruthven) ที่มักจะล่อลวงหญิงสาวมาดูดเลือดแล้วหายตัวไปอย่างลึกลับ
ผลงานเหล่านี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนวนิยายและละครเวทีเกี่ยวกับแวมไพร์เรื่องอื่น ๆ อีกในเวลาต่อมา
โดยเรื่องราวเกี่ยวกับแวมไพร์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ซีรีส์เรื่อง ‘Varney the Vampire; or the Feast of Blood’
เขียนโดย เจมส์ มัลคอล์ม ไรเมอร์ (James Malcolm Rymer) กับ โธมัส เพ็กเก็ตต์ เพรสต์ (Thomas Peckett Prest) ตีพิมพ์ต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 1845 ถึง 1847
และ เรื่อง ‘The Mysterious Stranger’ ไม่ทราบนามผู้เขียน ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1854
ซึ่งเรื่องนี้เอง สันนิษฐานว่าเป็นแรงบันดาลใจให้แบรม สโตเกอร์เขียนเรื่องแดรกคูลา ในปี ค.ศ. 1897
กับ เรื่อง ‘La Morte amoureuse’ เขียนโดย ธีโอฟิลล์ โกติเยร์ (Théophile Gautier) ในปี ค.ศ. 1836
(ชื่อหนังสือแปลในภาษาอังกฤษคือ ‘The Dead Lover’ / ‘The Dead Leman’ / ‘Clarimonde’ / ‘The Dreamland Bride’ หรือ ‘The Vampire’ เป็นต้น)
และ เรื่อง ‘Carmilla’ เขียนโดย เชอริแดน เลอ ฟานู (Sheridan Le Fanu) ในปี ค.ศ. 1872 ซึ่งสองเรื่องหลังนี้ได้เริ่มสร้างตัวละครแวมไพร์ที่เป็นผู้หญิงขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม นวนิยายเรื่องแดรกคูลาที่นำเสนอเรื่องราวของท่านเคานต์ชาวทรานซิลเวเนียที่มีพลังเหนือธรรมชาติ สามารถควบคุมจิตใจและแปลงกายได้เพื่อล่าเหยื่ออันบริสุทธิ์
กลายเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จที่สุด จนเป็นแรงบันดาลใจให้กับงานเขียนเกี่ยวกับแวมไพร์อีกมากมายนับไม่ถ้วนหลังจากนั้น
แวมไพร์กลายเป็นผีดูดเลือดที่มีลักษณะเฉพาะยอดนิยมหลายประการ เช่น เป็นอมตะ ชอบดื่มเลือด และเป็นชนชั้นสูง
(ท่านเคานต์แดรกคูลาเวอร์ชันภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนวนิยายเรื่อง แดรกคูลา (Dracula) ของ แบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker)กำกับโดย ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola))
หลังจากนั้นก็เริ่มมีข้อสันนิษฐานเพิ่มขึ้นมาอีกว่า
ลักษณะเฉพาะของแวมไพร์อาจได้แรงบันดาลใจมาจากการกระทำอันโหดร้ายของ ‘เจ้าชายวลาดที่สาม (Vlad III)’ แห่งทรานซิลเวเนียในศตวรรษที่ 15
ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘วลาดจอมเสียบ (Vlad the Impaler)’
(ภาพแกะสลักไม้จากเยอรมัน แสดงให้เห็นการกระทำอันโหดร้ายของ ‘เจ้าชายวลาดที่สาม (Vlad III)’ ที่จับเชลยศึกมาทรมานแล้วนำชิ้นส่วนศพมากินเป็นอาหาร รังสรรค์โดย แอมโบรซีอุส ฮูเบอร์ (Ambrosius Huber))
และอีกท่านคือ ‘เคาน์เตส อลิซาเบธ บาโธรี (Countess Elizabeth Báthory)’ ที่ได้สังหารหญิงสาวมากมายเพื่อนำเลือดมาอาบและดื่มกินเป็นอาหาร
(ภาพ ‘เคาน์เตส อลิซาเบธ บาโธรี (Countess Elizabeth Báthory)’ที่นั่งอยู่หน้ากระจก โดยมีหญิงรับใช้กำลังเทโลหิตของหญิงสาวบริสุทธิ์ลงในอ่างอาบน้ำให้นาง ภาพประกอบจาก นิตยสาร Mundo Estranho ในปี ค.ศ. 2009)
นอกจากนี้ แดรกคูลายังเป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพยนตร์สัญชาติเยอรมนีเรื่อง ‘Nosferatu’ ฉายในปี ค.ศ. 1922 ซึ่งมีการแสดงภาพแวมไพร์ที่กลัวแสงแดดเป็นครั้งแรก
กระนั้นไม่นาน ภรรยาม่ายของแบรม สโตเกอร์ก็ยื่นฟ้องภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์เรื่องแดรกคูลา จนฟิล์มแทบทั้งหมดถูกทำลาย (แม้ยังเหลือสำเนาที่หลงรอดมาได้ถึงปัจจุบัน)
(ตัวละครแวมไพร์ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Nosferatu’กำกับโดย เอฟ. ดับบลิว.เมอเนา (F. W. Murnau))
กำเนิดจากซากศพ สู่ความเป็นมนุษย์
เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่นวนิยายและภาพยนตร์แวมไพร์ส่วนใหญ่ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากเรื่องแดรกคูลา จนมีการสร้างภาคต่อและภาคแยกออกมามากมาย
เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ‘Hammer’ ฉายในปี ค.ศ. 1934, ภาพยนตร์เรื่อง ‘Dracula’s Daughter’ ฉายในปี ค.ศ. 1936,
ภาพยนตร์เรื่อง ‘Dracula’ หรือ ‘Horror of Dracula’ ฉายในปี ค.ศ. 1958
หรือแม้แต่ในภาพยนตร์ยุคปัจจุบัน ที่มีการนำตัวละครท่านเคานท์แดรกคูลามาตีความและเล่าในมุมมองใหม่ อย่างเรื่อง ‘Renfield’ ฉายในปี ค.ศ. 2023 เป็นต้น
แวมไพร์กลายเป็นตัวละครยอดนิยมที่ปรากฏในเรื่องราวต่าง ๆ เช่น วรรณกรรมชุดของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ (Sherlock Holmes)
เรื่อง ‘The Adventure of the Sussex Vampire’ เขียนโดย เซอร์ อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1924
ในปี ค.ศ. 2009 เดเกอร์ สโตเกอร์ (Dacre Stoker) และ เอียน โฮล์ต (Ian Holt) ได้ตีพิมพ์หนังสือภาคต่อของแดรกคูลาชื่อเรื่อง ‘Dracula : The Un-Dead’
ในศตวรรษที่ 20 ภาพลักษณ์ของแวมไพร์เริ่มถูกเปลี่ยนจากปีศาจกระหายเลือด ให้มีคุณลักษณะของมนุษย์มากขึ้น
อย่างแวมไพร์ในเรื่อง ‘Homecoming’ ของ เรย์ แบรดเบอรี (Ray Bradbury) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1946
เป็นเรื่องราวของเด็กชายมนุษย์ผู้อาศัยอยู่กับครอบครัวแวมไพร์ ซึ่งแวมไพร์ในเรื่องก็มีการแสดงความรู้สึก ‘เห็นอกเห็นใจ’ ออกมา
หรือแม้แต่ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Dark Shadows’ ฉายในปี ค.ศ. 2012 ก็ยังนำเสนอภาพของแวมไพร์ที่มีความรัก
(แวมไพร์ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Dark Shadows’ กำกับโดย ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton))
นวนิยายแวมไพร์ได้เข้าสู่ยุคใหม่เต็มรูปแบบจากการนำเสนอของ แอนน์ ไรซ์ (Anne Rice) ผู้เขียนเรื่อง ‘Interview with the Vampire’ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1976
หนังสือของเธอนำเสนอภาพของแวมไพร์ที่มีความเห็นอกเห็นใจ ครุ่นคิด เกลียดตัวเอง และทะเลาะวิวาทกันเหมือนมนุษย์ให้โลกได้รู้จัก
แม้ว่าแวมไพร์ของแอนน์ ไรซ์จะมีความอ่อนแอทางอารมณ์มากกว่าแวมไพร์ในยุคก่อน ๆ แต่กลับมีสมรรถภาพทางกายที่แข็งแรงกว่ามาก
รวมถึงความงาม ความเร็ว และมีประสาทสัมผัสเหนือมนุษย์ แต่มีจุดอ่อนอยู่ที่การกลัวแสงอาทิตย์กับไฟ
แวมไพร์ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ และจุดประกายให้เกิดนวนิยายเรื่องอื่น ๆ ต่อมาอีกจนถึงศตวรรษที่ 21 โดยยังคงลักษณะเฉพาะตามที่แอนน์ ไรซ์สร้างขึ้น
ขณะเดียวกันเธอก็ยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับแวมไพร์เพิ่มขึ้นอีกหลายเรื่อง เช่น ‘Vampire Chronicles’ และบางเรื่องยังถูกดัดแปลงมาสร้างบทภาพยนตร์อีกด้วย
กำเนิดตำนานรักกับผีดูดเลือด
แวมไพร์เริ่มกลายเป็นตัวละครที่มีความโรแมนติกมากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา
ในปี ค.ศ. 1978 เชลซี ควินน์ ยาร์โบร (Chelsea Quinn Yarbro) เริ่มตีพิมพ์หนังสือชุดของเคานต์แซงต์แชร์กแมง (The Vampire Count Saint-Germain)
โดยมีตัวละครหลักเป็นแวมไพร์ที่มีศีลธรรม ซึ่งการกัดกลายเป็นสถานการณ์ที่เร้าอารมณ์ไปโดยปริยาย
หลังจากนั้น ในวรรณกรรมหลายเรื่องก็เริ่มเขียนให้แวมไพร์มีลักษณะสำส่อน มีความอยากดื่มเลือดมนุษย์ควบคู่กับความต้องการทางเพศ
ในปี ค.ศ. 1991 ลอรี เฮอร์เตอร์ (Lori Herter) ได้ตีพิมพ์นวนิยายเรื่อง ‘Obsession’ ซึ่งเป็นหนึ่งในนวนิยายแวมไพร์เรื่องแรก ๆ ที่ถูกจัดอยู่ในประเภทโรแมนติกมากกว่านิยายวิทยาศาสตร์ แฟนตาซี หรือสยองขวัญ
ไม่นานเรื่องโรแมนติกของแวมไพร์ก็เริ่มถูกนำเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์
ในปี ค.ศ. 1997 ถึง 2003 ได้มีละครโทรทัศน์เรื่อง ‘Buffy the Vampire Slayer’ ที่นำเสนอความโรแมนติกระหว่างมนุษย์กับแวมไพร์
และเรื่อง ‘True Blood’ ของ HBO ที่สร้างจากหนังสือชุด ‘Sookie Stackhouse’ ของ ชาร์เลน แฮร์ริส (Charlaine Harris)
นิยายรักแวมไพร์สำหรับวัยรุ่น ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21
โดยมีซีรีส์เรื่อง ‘Vampire Diaries’ เขียนโดย แอล.เจย์.สมิธ (L.J. Smith) และหนังสือชุดเรื่อง ‘Twilight’ เขียนโดย สเตฟานี เมเยอร์ (Stephenie Meyer) ได้รับความนิยมมากที่สุด
โดยเฉพาะเรื่องทไวไลต์ที่บอกเล่าเรื่องราวโรแมนติกระหว่างมนุษย์กับแวมไพร์ในโรงเรียนมัธยมปลาย
ซึ่งแวมไพร์ในเรื่องนี้จะเปล่งประกายระยิบระยับท่ามกลางแสงอาทิตย์ แทนที่จะลุกเป็นไฟดังที่เคยถูกสร้างภาพจำไว้ในเรื่องก่อน ๆ
จนกลายเป็นกระแสทางวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดกระแสนิยมแวมไพร์ไปอีกหลายต่อหลายปี
(แวมไพร์ที่เปล่งประกายระยิบระยับท่ามกลางแสงอาทิตย์ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Twilight’ เขียนโดย สเตฟานี เมเยอร์ (Stephenie Meyer) กำกับโดย แคทเธอรีน ฮาร์ดวิก (Catherine Hardwick))
ความสัมพันธ์โรแมนติกของแวมไพร์ยังถูกบอกเล่าผ่านนวนิยายสัญชาติสวีเดน เรื่อง ‘Låt den rätte komma’
เขียนโดย จอห์น อายวิเด ลินด์ควิสต์ (John Ajvide Lindqvist) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2004 (ชื่อหนังสือแปลภาษาอังกฤษคือ Let the Right One In)
โดยตัวละครหลักของเรื่องเป็นแวมไพร์ที่อยู่ในร่างเด็กหญิงตลอดกาล ซึ่งเธอได้ตีสนิทกับเด็กชาย และคอยช่วยเหลือเขาให้ปลอดภัยจากอันธพาล
(แวมไพร์จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Let me in’ ดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง ‘Låt den rätte komma’ เขียนบทภาพยนตร์และกำกับโดย แมตต์ รีฟส์ (Matt Reeves))
หนังสือเรื่องนี้ถูกดัดแปลงมาสร้างภาพยนตร์ชื่อเดียวกันในสวีเดนเมื่อปี ค.ศ. 2008 และในสหรัฐอเมริกาชื่อ ‘Let Me In’ เมื่อปี ค.ศ. 2010
นอกจากเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ แล้ว แวมไพร์ยังได้รับความนิยมในฐานะฮีโร่แอ็คชันอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้
ดังในเรื่อง ‘Blade’ ซูเปอร์ฮีโร่ลูกครึ่งแวมไพร์ที่ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือการ์ตูน แต่โด่งดังอย่างมากจนนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ถึงสามภาค (ฉายในปี ค.ศ. 1998, 2002, 2004)
ภาพยนตร์ซีรีส์ยอดนิยมอีกเรื่องคือ ‘Underworld’ (ฉายในปี ค.ศ. 2003, 2006, 2009, 2012, 2016) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามระหว่างแวมไพร์และมนุษย์หมาป่า ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่โด่งดังอย่างมาก
แม้ว่าในศตวรรษที่ 20 แวมไพร์จะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตในจินตนาการที่ถูกนำมาบอกเล่าใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สร้างภาพจำใหม่ ๆ จนเปลี่ยนภาพลักษณ์อันน่าสะพรึงกลัวเป็นเย้ายวนใจ แล้วยังปรากฏตัวในสื่ออีกหลายรูปแบบทั้งนวนิยาย เพลง หรือแม้แต่ในบอร์ดเกม
ถึงอย่างนั้นตำนานพื้นบ้านของแวมไพร์ก็ยังไม่เคยถูกลบเลือน ความน่ากลัวของอัตลักษณ์ดั้งเดิมยังคงถูกถ่ายทอดอยู่จากรุ่นสู่รุ่น
และผู้คนไม่มีวันลืมวิธีจัดการกับศพต้องสงสัยในสุสาน จวบจนถึงทุกวันนี้
ถ้าแวมไพร์ไม่ดื่มเลือด จะเป็นยังไง !?
สื่อสมัยนิยมมักเขียนให้แวมไพร์แฝงตัวปะปนอยู่กับมนุษย์ และปฏิเสธการล่าเลือดมนุษย์เป็นอาหารแล้ว ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตร และเป็น พระเอก ขึ้นให้กับแวมไพร์
แต่เพื่อความอยู่รอดและพลังชีวิต แวมไพร์ส่วนใหญ่จึงหันไปดื่มเลือดสัตว์แทน
แต่หากลองคิดในทางกลับกันว่า ‘จะเกิดอะไรขึ้นล่ะ ถ้าแวมไพร์ไม่ดื่มเลือด !?’ (อย่าตอบว่า หิว นะ…)
อ้างอิงจากบทความของ kidadl ในหัวข้อ ‘Why do Vampires Drink Blood ?’ เว็บไซต์ได้เขียนเอาไว้ว่า
แวมไพร์เป็นสิ่งมีชีวิตอมตะ ที่มีสารพันธุกรรมเหนือธรรมชาติ จากประโยคนี้ทำให้เราเข้าใจอย่างหนึ่งว่า แวมไพร์เป็นอมตะ
ไม่ว่าจะได้ดื่มเลือดหรือไม่ได้ดื่มก็ตาม เขาก็จะยังคงมีชีวิตอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์
เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ต้องทานอาหารเพื่อความอยู่รอด เลือดก็เป็นหนึ่งในอาหารที่ช่วยให้แวมไพร์มีพละกำลังเพิ่มขึ้น
หากได้ดื่มเลือด ก็เหมือนมนุษย์ที่ได้ทานอาหาร หากไม่ได้ดื่ม ก็เหมือนมนุษย์ที่ไม่ได้ทานอาหาร
คุณพอนึกภาพออกไหม ว่าคนที่หิวจนแทบตายแต่ไม่มีอะไรกินมันทรมานมากแค่ไหน
(ภาพยนตร์เรื่อง The Little Vampire เขียนโดย แองเจลา โบเดนเบิร์ก (Angela Sommer-Bodenburg) กำกับโดย อูลี อีเดิล (Uli Ede) เป็นภาพยนตร์เด็กที่มีตอนแวมไพร์น้อยชื่อ รูดอล์ฟ (Rudolf) หนีการไล่ล่าจนอ่อนแรง ต้องได้ดื่มเลือดเพื่อฟื้นฟูกำลังให้กลับมา)
แต่แวมไพร์ทรมานมากกว่านั้นหลายเท่า เพราะการตายได้ปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความทรมาน
แต่แวมไพร์ จะยังต้องทรมานอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีวันดับสูญ ความทรมานจะทำให้พวกเขาอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และเข้าสู่สภาวะนิทราไปชั่วนิรันดร์
ทำไมแวมไพร์ถึงเป็นอมตะ
: การลงทัณฑ์ที่ร้ายแรงกว่าความตาย
แนวคิดเรื่องแวมไพร์เป็นอมตะ คือส่วนสำคัญของตำนานแวมไพร์ที่เชื่อมโยงกับพลังเหนือธรรมชาติ แต่ก็มีการสันนิษฐานถึงนัยยะของความเป็นอมตะของแวมไพร์อยู่หลายประการ เช่น
- ความเป็นอมตะ คือสัญลักษณ์แห่งอำนาจและการควบคุม
ความเป็นอมตะมักถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของพลังและอำนาจในการครอบงำควบคุม
ในตำนานของแวมไพร์มักกล่าวว่า แวมไพร์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของการตาย ได้รับชีวิตนิรันดร์ และมีความสามารถในการควบคุมจิตใต้สำนึกผู้อื่น
ความเป็นอมตะทำให้แวมไพร์แตกต่างจากมนุษย์ทั่วไป แล้วยังเพิ่มเสน่ห์ลึกลับให้กับแวมไพร์ด้วย
- ความเป็นอมตะ ทำให้เกิดความกลัวแต่น่าหลงใหล
ความเป็นอมตะของแวมไพร์ก่อให้เกิดความกลัวแต่น่าหลงใหล ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับมนุษย์
ความคิดที่ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งสามารถดำรงชีพได้ตลอดกาล จากการดูดดื่มพลังชีวิตของผู้อื่นนั้น ทำให้แวมไพร์กลายเป็นศัตรูที่น่าเกรงขาม
สามารถเอาชนะมนุษย์ได้อย่างง่ายดาย และสิ่งเหล่านี้ก็ครอบงำจินตนาการโดยธรรมชาติของมนุษย์
- ความเป็นอมตะ คือพล็อตนิยายสุดเพอร์เฟ็ค
เรื่องราวเกี่ยวกับแวมไพร์หลายเรื่อง ความเป็นอมตะมักถูกมองว่าเป็นทั้งพรและคำสาป
แม้ว่าความปรารถนาที่จะมีชีวิตชั่วนิรันดร์ในตอนแรกอาจดูน่าหลงใหล แต่ก็มักมาพร้อมกับข้อเสียเปรียบและปมขัดแย้งทางศีลธรรม
แวมไพร์ผู้มีชีวิตอมตะจะต้องต่อสู้กับผลที่ตามมาจากการกระทำของพวกเขา รวมถึงการสูญเสียคนที่รัก การรับมือกับความโดดเดี่ยว และจริยธรรมของนักล่า
(ภาพยนตร์เรื่อง ‘Interview with the vampire’ เขียนโดย แอน ไรซ์ (Anne Rice) กำกับโดย นีล จอร์แดน (Neil Jordan))
- ความเป็นอมตะ ทำให้เกิดรักนิรันดร์
แวมไพร์คือตัวละครที่น่าสงสาร ถูกกำหนดให้ต้องเดินทางท่องโลกไปชั่วนิรันดร์
ความเป็นอมตะของแวมไพร์ทำให้เกิดเรื่องราวความรักที่ยืนยาวนานนับหลายศตวรรษ เนื่องจากไปหลงรักกับมนุษย์ที่อยู่ภายใต้กฎของเวลา
พล็อตเรื่องอมตะนี้ช่วยเพิ่มความลึกซึ้งให้กับเรื่องราวโรแมนติก รวมถึงความสูญเสีย และการผ่านพ้นไปของกาลเวลา
- ความเป็นอมตะ คืออาการหนึ่งของการกลายร่างเป็นแวมไพร์
ตามปกติแล้วแวมไพร์จะได้รับชีวิตอมตะมาพร้อมกับการกลายร่างเป็นแวมไพร์ เหมือนกับอาการปวดหัวตัวร้อนทั่วไปเวลาเราป่วย
ซึ่งอาการกลายเป็นอมตะนี้ทำให้แวมไพร์หลุดออกจากวัฏชีวิตตามธรรมชาติ ต้องดำรงชีพนอกกฎเกณฑ์ของโลก
โดยรวมแล้ว ความเป็นอมตะกลายเป็นหัวใจหลักของตำนานแวมไพร์ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความลึกลับ เสน่ห์ และความน่าดึงดูดใจทางวรรณกรรม ภาพยนตร์ และวัฒนธรรมสมัยนิยม
วิธีกลายร่างเป็นแวมไพร์
นี่เป็นข้อมูลบางส่วนที่รวบรวมไว้จากการค้นหาข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ ได้โปรด… ใช้วิจารณญาณในการอ่าน
- ถูกแวมไพร์กัด
ในตำนานแวมไพร์หลายเรื่อง มนุษย์จะกลายร่างเป็นแวมไพร์ได้หลังจากถูกแวมไพร์ตนอื่นกัด
เนื่องจากเหยื่อจะติดเชื้อเหนือธรรมชาติ หรือคำสาปผ่านการกัดของแวมไพร์ นี่เป็นวิธีการกลายร่างที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในตำนานแวมไพร์
(ภาพยนตร์เรื่อง ‘Twilight’ มีฉากที่เอ็ดเวิร์ด แวมไพร์ในเรื่องกำลังกัดเบลลา คนรักที่เป็นมนุษย์ของเขา เพื่อหวังว่าเธอจะกลายเป็นแวมไพร์ แล้วฟื้นขึ้นมาจากความตาย)
- ดื่มเลือดแวมไพร์
ในบางเรื่องก็กล่าวว่า หากได้ดื่มเลือดหรือรับเลือดของแวมไพร์ ผู้ดื่มหรือผู้รับเลือดก็สามารถกลายเป็นแวมไพร์ได้
โดยวิธีนี้อาจเกิดจากความสมัครใจของผู้ที่แสวงหาความเป็นอมตะหรืออำนาจ หรือเกิดจากการถูกบังคับให้ดื่มก็ได้เช่นกัน
- คำสาปหรือพิธีกรรมทางไสยศาสตร์
ตำนานแวมไพร์บางเรื่องกล่าวว่า มนุษย์ที่กลายเป็นแวมไพร์นั้น เกิดจากผลของคำสาปร้าย หรือพิธีกรรมทางไสยศาสตร์จากผู้ใช้มนตร์ดำ
ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับการเรียกพลังเหนือธรรมชาติ หรือการทำข้อตกลงกับสิ่งชั่วร้ายเพื่อแลกกับอะไรบางอย่างที่คุ้มค่ากัน
(ภาพยนตร์เรื่อง ‘Dark Shadows’ มีฉากที่ดอกเตอร์จูเลียช่วยถ่ายเลือดแวมไพร์ ออกจากร่างของท่านเคานท์บาร์นาบัส ผู้ซึ่งกลายเป็นแวมไพร์เพราะถูกแม่มดสาป แล้วถ่ายเลือดมนุษย์เข้าไปในร่างท่านเคานท์แทน เพราะคิดว่านั่นจะช่วยให้ร่างแวมไพร์ค่อย ๆ กลายเป็นมนุษย์มากขึ้น แต่เธอกลับแอบนำเลือดของท่านเคานท์มาถ่ายต่อให้ตนเองเพราะไม่อยากแก่ สุดท้ายเธอก็กลายร่างเป็นแวมไพร์สมใจ)
- วัตถุต้องสาป
ในนวนิยายบางเรื่องก็กล่าวว่า วัตถุต้องสาปสามารถเปลี่ยนร่างของผู้ที่ครอบครองหรือผู้ที่สัมผัสมันให้กลายเป็นแวมไพร์ได้
- สาเหตุลึกลับ หรือไม่ทราบสาเหตุ
ตำนานแวมไพร์หลายเรื่องกล่าวว่า สาเหตุแท้จริงที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นแวมไพร์นั้นยังคงเป็นปริศนาอยู่ ไม่สามารถหาสาเหตุได้
ศพบางร่างอาจตื่นขึ้นมาจากหลุมดื้อ ๆ โดยที่ไม่รู้ว่าทำไมตนเองถึงได้กลายเป็นแวมไพร์
(ในภาพยนตร์เรื่อง ‘The Little Vampire’ ได้เล่าถึงครอบครัวแวมไพร์ที่ครอบครองวัตถุศักดิ์สิทธิ์ชิ้นหนึ่งอยู่ ซึ่งวัตถุชิ้นนี้เองที่หากนำมาทำพิธีให้ถูกต้อง จะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากการเป็นแวมไพร์ได้)
วิธีป้องกันตัวเมื่อเจอแวมไพร์
แม้ว่าแวมไพร์จะไม่ตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ หรือความทุกข์ทรมานเหมือนอย่างมนุษย์ อีกทั้ง หากแวมไพร์มีแผลก็ยังมีความสามารถในการรักษาที่เร็วกว่าปกติด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ในตำนาน นวนิยาย หรือภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องก็ได้บอกเล่าถึงวิธีการต่าง ๆ ที่เชื่อว่าสามารถต่อกร ป้องกันตัว หรือทำอันตรายแวมไพร์ได้
เราจึงได้รวบรวมมาไว้ เผื่อวันใดวันหนึ่งคุณจะเผอิญไปเดินชนกับแวมไพร์เข้า แต่ฉันหวังว่าจะไม่มีวันนั้นนะ…
- กระเทียม
กระเทียมเป็นหนึ่งในสมุนไพรไล่แวมไพร์ที่รู้จักกันดีที่สุดในตำนานพื้นบ้าน
ชาวบ้านจะแขวนพวงกระเทียมไว้รอบ ๆ บ้าน หรือสวมสร้อยกระเทียมไว้รอบคอ
เชื่อกันว่ากลิ่นกระเทียมสามารถขับไล่และป้องกันอิทธิฤทธิ์ของแวมไพร์ได้
- ไม้กางเขน หรือเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์
ในตำนานแวมไพร์หลายเรื่อง เครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ เช่น ไม้กางเขน น้ำมนต์ หรือเครื่องรางทางศาสนา เป็นต้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันแวมไพร์ได้
เพียงถือเครื่องรางไว้ในมือ ชูป้องกันไปข้างหน้าหรือรอบ ๆ ก็ทำให้แวมไพร์ถอยหนีแล้ว
- หมุด หรือลิ่ม
ตามตำนานแวมไพร์เล่ากันว่า วิธีสังหารแวมไพร์ที่ดีที่สุดคือการตอกหมุดหรือใช้ลิ่มแทงให้ทะลุหัวใจของร่างแวมไพร์
ถ้าเป็นไปได้ หรือต้องเข้าไปในสถานที่ที่คาดว่าจะมีแวมไพร์ ก็สามารถพกหมุดหรือลิ่มติดตัวไว้ เผื่อในกรณีที่ต้องการสังหารแวมไพร์ให้สิ้นซาก
- แสงแดด
มีความเชื่อว่าแวมไพร์เป็นปีศาจรัตติกาลที่จะแพ้ อ่อนแอลง หรือร่างสลายได้เมื่อถูกแสงแดด
หากคุณสงสัยว่ามีแวมไพร์มาป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ ๆ ให้หนีไปอยู่ใต้แสงแดด หรืออยู่ในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้แวมไพร์เข้าใกล้
- น้ำไหล
ในตำนานพื้นบ้านของแวมไพร์บางเรื่องกล่าวว่า แวมไพร์ไม่สามารถข้ามน้ำไหล เช่น แม่น้ำหรือลำธารได้
หากคุณอยู่ใกล้น้ำ ให้หนีข้ามแม่น้ำหรือลำธารไป แต่นั่นอาจหยุดการตามล่าของแวมไพร์ได้ชั่วคราวเท่านั้น
- แร่เงิน
แร่เงินมีคุณสมบัติเหนือธรรมชาติที่สามารถทำร้ายหรือขับไล่แวมไพร์ได้
หากคุณไม่สะดวกที่จะพกหมุดหรือลิ่มเพราะกลัวจะถูกมองแรงว่าพกอาวุธในที่สาธารณะ ก็แนะนำให้เลี่ยงมาพกสิ่งของหรือเครื่องประดับที่ทำจากแร่เงินแท้แทน
- หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง ๆ
วิธีที่ดีที่สุดในการหลบเลี่ยงแวมไพร์ ก็คือไม่โผล่หัวไปหาแวมไพร์ถึงที่เอง
แนะนำให้เลี่ยงสถานที่ที่น่าสงสัยว่าจะมีแวมไพร์ซ่อนตัวอยู่ เช่น สุสาน อาคารร้าง หรือพื้นที่เปลี่ยวในเวลากลางคืน เป็นต้น
แวมไพร์ เป็นตัวละครที่ได้รับความนิยมอย่างมากตั้งแต่อดีต และยังคงถูกพูดถึงจนปัจจุบัน
เรื่องราวของเขาถูกนำมาเล่าใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงอย่างนั้นแวมไพร์ก็ยังเป็นขวัญใจของใครหลายคน และฉันเชื่อว่า แวมไพร์จะยังคงเป็นขวัญใจ มีตัวตนอยู่ในสื่อต่าง ๆ ไปชั่วนิรันดร์
(ซีรีส์โทรทัศน์เรื่อง ‘I Woke Up A Vampire’ ที่ยังคงฉายอยู่ทาง Netflix ในปัจจุบัน ยิ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของแวมไพร์ที่ยังตราตรึงอยู่ในใจของทุกคนมานานนับศตวรรษ)
ทำไมแวมไพร์ไม่ถูกกับมนุษย์หมาป่า
*
จบไปได้ด้วยดีกับอีกหนึ่งมหากาพย์ของแวมไพร์ เป็นเรื่องราวที่หลายคนรอคอยกันมานานมากกกก และมาลินทร์ก็เพิ่งจะตามมาเขียนให้เสร็จสักที 55555
แต่เดิมคิดว่าแวมไพร์คงไม่มีอะไรให้ทำความเข้าใจอีกเพราะใคร ๆ ก็รู้จักแวมไพร์ ได้ยินเรื่องราวของแวมไพร์มาเยอะและยาวนานมาก
แต่แล้วเมื่อได้สืบค้นจริง ๆ มาลินทร์กลับค้นพบเรื่องราวน่าสนใจของแวมไพร์อีกมากมายที่ไม่น่าเชื่อว่าจะไม่เคยได้ยินมาก่อน
ในขณะที่เล่าเรื่องราวของพวกเขาให้ทุกคนฟัง ฉันก็ได้เรียนรู้ตำนานเรื่องแวมไพร์ไปด้วยพร้อม ๆ กัน สนุกจริง ๆ สนุกอย่างน่าเหลือเชื่อเลยค่ะ
เขียนบทความนี้จบแล้ว มาลินทร์ขอไปตามดูหนังเกี่ยวกับแวมไพร์ต่อก่อนนะคะ ><
มาลินทร์, แม่มดฝึกหัด
-บรรณารักษ์-
*
บรรณานุกรม
Vampire Mercy Brown | When Rhode Island Was “The Vampire Capital of America”. สืบค้นจาก : newengland.com
Vampire History. สืบค้นจาก : www.history.com
Tracing the blood-curdling origins of vampires, zombies, and werewolves. สืบค้นจาก : www.nationalgeographic.co.uk
The Horrors of History: Vampires. สืบค้นจาก : ashland.kctcs.edu
Vampire. สืบค้นจาก : www.britannica.com
The Complete History of Vampires. สืบค้นจาก : www.oprahdaily.com
The Empusa: A Beautiful Monster of Greek Mythology. สืบค้นจาก : historycooperative.org
Lamia. สืบค้นจาก : www.worldhistory.org
The Draugr. สืบค้นจาก : https://www.scandinavianarchaeology.com
Pingback: มนุษย์หมาป่า - Tales Reader