ยามราตรีมาเยือน จันทร์กระจ่างฟ้า แสงนวลอาจมีเสน่ห์น่าหลงใหลสำหรับใครหลายคน แต่ไม่ใช่กับพวกเขาเหล่านี้แน่…
ก็ถ้าเป็นคุณจะรู้สึกอย่างไรกัน หากทุกครั้งที่เห็นจันทร์เพ็ญกลางนภา คือสัญญาณ์ของการกลายร่าง !
มนุษย์หมาป่าคืออะไร ?
มนุษย์หมาป่า หรือ แวร์วูฟ (Werewolf) เป็นสิ่งมีชีวิตตามตำนาน นิทานพื้นบ้าน และเทพนิยายปรัมปราของชาวยุโรป
มีที่มาจากคำว่า ‘werwulf’ ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษโบราณ
wer แปลว่า ผู้ชาย wulf แปลว่า หมาป่า คำนี้ถูกใช้กันทั่วไปในยุโรปยุคกลาง เพื่อหมายถึงมนุษย์ที่แปลงร่างเป็นหมาป่าได้ในคืนพระจันทร์เต็มดวง
ลองจินตนาการดูสิ… ในคืนวันเพ็ญที่เราแหงนหน้ามองฟ้า แสงจันทราสุกสว่างจนกลบหมู่ดาวไปสิ้น กลางราตรีอันสงบสุขอาจมีใครบางคนกำลังกลายร่างเป็นอสุรกาย แล้วออกมาเดินท่อม ๆ กลางเมืองที่หลับใหล
เขาอาจนั่งพักอยู่ในมุมมืด หรือแอบมองคุณจากหลังม่านหน้าต่างของตึกฝั่งตรงข้าม แฝงตัวอยู่ใต้เงาไม้ที่กำลังพรือไหวตามสายลม รอคอยให้คุณเบนสายตาไปทางอื่นแล้วเคลื่อนกายหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
หรือไม่อย่างนั้น… ก็ไม่มีใครช่างสังเกตมากพอจะเห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มนุษย์หมาป่าทำหล่นไว้ ยามแสงทิวามาเยือน
สิ่งมีชีวิตตามตำนานเหล่านี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม เช่น ตำนานเทพเจ้ากรีกเรียกว่า ไลแคนโทรป (Lycanthrope), ตำนานพื้นบ้านของฝรั่งเศสเรียกว่า ลูป-การู (Loup-garou), และตำนานของชนพื้นเมืองอเมริกันเรียกว่า สกินวอล์กเกอร์ (Skinwalker) เป็นต้น
ถึงแม้จะมีชื่อเรียก ความเชื่อ และลักษณะที่แตกต่างกันตามวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่โดยรวมก็หมายถึงสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน และมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงร่างมนุษย์สู่สัตว์ร้ายเหมือนกัน
(ภาพมนุษย์หมาป่า หรือภาพ ‘มนุษย์กินคน’ รังสรรค์โดย ลูคัส ครานัค ผู้อาวุโส (Lucas Cranach the Elder) นำเสนอภาพอันน่าสยดสยองของมนุษย์หมาป่าที่กำลังเข่นฆ่าผู้คน
วิธีกลายร่างเป็นมนุษย์หมาป่า
ตามตำนานกล่าวว่า ผู้ที่จะกลายร่างเป็นมนุษย์หมาป่าได้ต้อง…
- ถูกมนุษย์หมาป่าตัวอื่นกัดหรือข่วนเข้า
- ถูกสาปแช่ง หรือได้รับคำสาปที่สืบทอดผ่านทางสายเลือดของครอบครัว
- บางวัฒนธรรมเชื่อว่า หากดื่มน้ำผ่านรอยเท้าของหมาป่า จะสามารถทำให้คนผู้นั้นกลายร่างเป็นมนุษย์หมาป่าได้ เพราะเสมือนเป็นการถ่ายโอนวิญญาณสัตว์ร้ายมาสู่ร่างกายตน
- ใช้เวทมนตร์คาถาแปลงกาย
- ดื่มยาวิเศษที่ทำให้แปลงกายมนุษย์หมาป่าได้
- สวมหนังหมาป่าเพื่อเรียกวิญญาณมาสิงสู่ร่าง
วิธีการที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น แต่ใครล่ะจะกล้าทำตาม หากไม่นับเรื่องความสะอาดปลอดภัยแล้ว ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ถ้าเกิดลองทำแล้วได้ผลขึ้นมาจริง ๆ
ตำนานไม่ได้บอกวิธีแก้ไขเอาไว้น่ะสิ !
พลังอำนาจของมนุษย์หมาป่า
นอกจากความสามารถในการแปลงกายแล้ว เมื่อกลายร่าง มนุษย์หมาป่าจะได้รับความสามารถทางกายภาพอื่น ๆ ในร่างของสัตว์นั้นเพิ่มมาด้วย
เช่น มีฟันและกรงเล็บแหลมคม มีประสาทสัมผัสเพิ่มมากขึ้น มีความแข็งแกร่งและว่องไวเพิ่มขึ้น และลักษณะเหล่านี้ก็จะติดตัวมาด้วยแม้ในยามที่กลับคืนสู่ร่างมนุษย์
กล่าวคือ มีขนตามร่างกายมากเป็นพิเศษ มีเขี้ยวแหลม และมีจมูกคล้ายจมูกสัตว์หรือจมูกหมาป่า เป็นต้น
เพราะเหตุนี้เอง การตัดสินคนจากรูปกายภายนอกในยุคนั้น ซึ่งคงไม่ต่างอะไรกับการล่าแม่มดนัก ก็ทำให้ต้องสูญเสียคนบริสุทธิ์ไปจำนวนมาก ที่จวบจนทุกวันนี้ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า
พวกเขาเป็นฆาตกรตัวจริง หรือแพะรับบาปกันแน่ !
ตำนานมนุษย์หมาป่าหลายเรื่องยังกล่าวตรงกันว่า คืนพระจันทร์เต็มดวงเป็นช่วงเวลาที่มีผลกับมนุษย์หมาป่ามากที่สุด เพราะพลังของแสงจันทร์สามารถทำให้กลายร่างจากมนุษย์เป็นหมาป่าได้
แต่บางความเชื่อ เช่นเรื่องลูป-การู (Loup-garou) ของฝรั่งเศส ก็กล่าวเพียงว่า แสงจันทร์มีผลให้พลังอำนาจของมนุษย์หมาป่าแข็งแกร่งมากที่สุดเท่านั้น แต่ไม่ได้มีผลต่อการแปลงกายแต่อย่างใด
เพราะลูป-การู (Loup-garou) สามารถแปลงกายเป็นมนุษย์หมาป่าได้ทุกครั้งตามที่ใจปรารถนา
และเนื่องจากความสามารถทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อกลายร่างแล้ว มนุษย์หมาป่าเลยถูกมองว่ามีนิสัยก้าวร้าวรุนแรง และสัญชาตญาณนักล่าก็ทำให้กลายเป็นตัวอันตรายต่อสังคม
การล่ามนุษย์หมาป่า
ฆาตกรต่อเนื่อง… หรือ แพะรับบาป !?
ในยุคกลางที่เปี่ยมไปด้วยความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถา ไสยศาสตร์ลี้ลับ และสงครามทางศาสนา ได้มีผู้บริสุทธิ์และผู้ต้องสงสัยจำนวนมากตกเป็นจำเลยของสังคม ด้วยการถูกกล่าวหาว่าเป็นมนุษย์หมาป่าและแม่มด
ความดุร้ายน่ากลัวทำให้มนุษย์หมาป่าถูกจัดอยู่ในจำพวกเดียวกับปีศาจอย่างแวมไพร์และแม่มด ถูกตีตราว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับความดีงามของศาสนา เป็นมารร้ายที่เกิดมาเพื่อบ่อนทำลายความสงบสุขของชาวเมือง
ด้วยเหตุนี้ การตามล่ามนุษย์หมาป่าเพื่อนำตัวมาประหาร จึงกลายเป็นความชอบธรรมที่เพื่อนมนุษย์ใช้ลงทัณฑ์เพื่อนมนุษย์กันเอง เพียงเพราะคนผู้นั้น น่าสงสัย !
ฉะนั้น… ไหนลองส่องกระจกดูดี ๆ ซิ หรือสังเกตคนรอบข้างดู ว่ามีใครลักษณะอย่างนี้บ้างไหม
แต่ต้องระวังให้ดีนะ ! อย่าให้คนน่าสงสัยรู้ตัวเด็ดขาด เพราะหากไปรู้ความลับของมนุษย์หมาป่าเข้า เขาอาจมาปรากฏตัวที่บ้านคุณในคืนนี้ และกระทำบางอย่างเพื่อปิดปากคุณไปตลอดกาล…
ใครคนนั้นจะมีแววตาดุดันเหมือนสัตว์ร้าย มีขนดกทั่วร่าง ขนคิ้วหนาเป็นปื้นชนกัน หูหลุบต่ำ ๆนิ้วมืององุ้ม…
พอได้เห็นวิธีสังเกตลักษณะคนที่เป็นมนุษย์หมาป่าเบื้องต้นแล้ว คุณคงนึกขันว่าวิธีตื้นเขินแบบนี้จะเอามาเป็นหลักฐานปรักปรำคนอื่นได้ยังไงกัน
ก็เพราะวิธีตื้นเขินแบบนี้นี่ล่ะ โลกถึงได้สูญเสียผู้บริสุทธิ์ไปมหาศาลจนน่าใจหาย เพราะคนที่ถูกสงสัยว่าเป็นมนุษย์หมาป่า จะถูกจับตัวมาทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ยอมรับสารภาพ ถูกจำคุก และประหารชีวิตในที่สุด
เหมือนกับการล่าแม่มด เหยื่อหลายรายหวาดกลัวการโดนทรมานจนต้องยอมรับผิดว่า ฉันนี่แหละ มนุษย์หมาป่าตัวจริง !
จากนั้นน่ะเหรอ… ชาวบ้านกับผู้นำศาสนาคงไม่ยอมปล่อยให้ปีศาจร้ายลอยหน้าลอยตาต่อไปได้หรอก
นี่คือตราบาปอันใหญ่หลวงของมวลมนุษยชาติ
ยกตัวอย่างเรื่องราวหนึ่ง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการล่ามนุษย์หมาป่าที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1589 ชายคนหนึ่งชื่อ ปีเตอร์ สตัมป์ (Peter Stump บางทีเขียน Stubbe หรือ Stumpf) เป็นชาวนาชาวเยอรมัน อายุ 50 ปี อาศัยอยู่ในเมืองเบดเบิร์ก (Bedburg) เขากลายเป็นอาชญากรที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นมนุษย์หมาป่า
(เมืองเบดเบิร์กทางตะวันตกของประเทศเยอรมนีราวปี ค.ศ. 1930 แสดงให้เห็นประตูสู่ใจกลางเมืองในช่วงยุคกลางภาพโดย : Alamy, ACI)
แม้ว่าหลักฐานทางเอกสารของคดีสตัมป์จะมีอยู่น้อยนิด และไม่มีแม้แต่บันทึกการสอบสวนกับบันทึกการพิจารณาคดีจากศาลด้วยซ้ำ นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้ก็ทำได้เพียงหาข้อมูลจากจุลสารและใบปลิวเท่านั้น
ซึ่งเอกสารที่มีข้อมูลยาวที่สุด คือจุลสารภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1590 ข้อความ 16 หน้ากระดาษอ้างว่าเป็นงานแปลมาจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน หากแต่นักประวัติศาสตร์ก็หาเอกสารต้นฉบับนั้นไม่พบ
(จุลสารภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์เรื่องการพิจารณาคดีของสตัมป์ ซึ่งได้รับความนิยมในเยอรมนีและทั่วยุโรปแต่หลายฉบับได้สูญหายไปตามกาลเวลา หนึ่งในไม่กี่เล่มที่รอดมาได้คือฉบับที่ตีพิมพ์ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 1590 และจุลสารนี้กับข้อความ 16 หน้า ก็ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลหลักเกี่ยวกับคดีของสตัมป์ (ในเล่มนี้เขียนว่า Stubbe) ภาพโดย : หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ)
จุลสารบันทึกไว้ว่า วันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1589 ฝูงชนได้มารวมตัวกันที่เมืองเบดเบิร์กของเยอรมนี เพื่อเป็นสักขีพยานในการประหารชีวิตนักโทษชายชื่อ ปีเตอร์ สตัมป์ อายุ 50 ปี
สตัมป์สารภาพว่าเขาทำสัญญากับปีศาจ แต่ไม่ใช่เพื่อความร่ำรวย เขาทำเพราะต้องการกลายร่างเป็นมนุษย์หมาป่า ปีศาจจึงได้มอบเข็มขัดหนังหมาป่าให้แก่เขา เมื่อสวมเข็มขัดจะทำให้เขากลายร่างเป็นหมาป่าได้ และเมื่อถอดเข็มขัดออกก็จะกลับคืนสู่ร่างมนุษย์ดังเดิม
เขายังสารภาพด้วยว่า ได้ก่อเหตุฆาตกรรมอันน่าสยดสยองไปหลายศพ แล้วก็กินเนื้อเหยื่อ รวมทั้งสิ้น 16 ราย ในจำนวนนั้นเป็นเด็ก 13 ราย และมีลูกชายแท้ ๆ ของเขารวมอยู่ด้วย
นอกจากนี้ยังสารภาพอีกว่า ตนได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับลูกสาวและปีศาจซักคิวบัส สตัมป์ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฆาตกรรมและก่ออาชญากรรมอื่น ๆ
ระหว่างขั้นตอนการประหารชีวิต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวิธีการประหารชีวิตที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ สตัมป์ต้องทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสเมื่อถูกตรึงร่างไว้กับกงล้อหมุนจนกระดูกหักทั้งตัว จากนั้นก็ถูกถลกหนังทั้งเป็น ก่อนจะตัดศีรษะเสียบประจานกลางหมู่บ้าน แล้วนำร่างไร้หัวไปเผาไฟ
(จุลสารภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1590 มีภาพประกอบอธิบายเรื่องราวคดีของสตัมป์ที่แสดงให้เห็นว่าสตัมป์ลงมือสังหารเหยื่อในร่างมนุษย์หมาป่า วิธีการจับกุมเขาโดยทางการ ช่วงการสอบสวน และขั้นตอนการประหารชีวิตอันโหดร้าย ในที่สุดเขาก็ถูกเผาร่างไปพร้อมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ภาพโดย : Charles Walker, Alamy, ACI)
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแรงจูงใจในการจับกุมตัวสตัมป์จากปากชาวบ้าน ถ้อยคำทั้งหมดล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวเหนือธรรมชาติที่ไม่น่าเกิดขึ้นจริงได้ แถมยังมีรายละเอียดสุดดราม่าอย่างกับดูซีรีส์อยู่
ชาวบ้านบอกว่าสตัมป์เป็นคนสุภาพอ่อนโยน เป็นที่รู้จักของคนในหมู่บ้านดี บ่อยครั้งเขาจะกล่าวทักทายผู้คน รวมถึงเด็ก ๆ ที่เขาฆ่าตาย เขาดูเป็นคนที่ไม่มีพิษมีภัยหรือน่าสงสัยเลยสักนิด
โดยแรงจูงใจในการจับกุมสตัมป์ถูกบันทึกไว้สองแบบด้วยกัน
แบบที่หนึ่ง สตัมป์ถูกชาวนาในท้องถิ่นจับกุมตัวไว้ หลังจากที่มีข่าวว่าหมาป่าออกอาละวาดจนชาวนาได้ออกไปต่อสู้กับมัน ชาวนาใช้ดาบตัดอุ้งเท้าของมันมาได้ข้างหนึ่ง ก่อนจะพบทีหลังว่ามือซ้ายของสตัมป์ได้หายไปเช่นกัน เท่านี้ก็เพียงพอที่จะสงสัยในตัวสตัมป์ได้แล้วว่า เขาต้องเป็นมนุษย์หมาป่าแน่นอน
แบบที่สอง หลังจากเกิดเหตุฆาตกรรมและเหล่าปศุสัตว์ตายเป็นเบือ ชาวบ้านจึงออกลาดตระเวนกันจนพบหมาป่าน่าสงสัยตัวหนึ่ง ชาวบ้านได้ตามล่ามันจนกระทั่งสตัมป์ปลดเข็มขัดหนังหมาป่า และกลับคืนสู่ร่างมนุษย์ต่อหน้าต่อตาทุกคน มีคนจำเขาได้ สตัมป์จึงถูกจับกุมทันที
ความผิดของสตัมป์เกิดขึ้นหลังจากที่ถูกคุมขังได้ไม่นาน ด้วยความหวาดกลัวที่จะถูกทรมานอย่างแสนสาหัส เขาเลยยอมรับผิดทุกข้อกล่าวหาอย่างสมัครใจ
นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่สตัมป์จะเป็นฆาตกรจริง เนื่องจากเคยมีข้อสังเกตว่า ตำนานมนุษย์หมาป่าอาจมีต้นกำเนิดจากการที่คนสมัยก่อนพยายามอธิบายเรื่องฆาตกรต่อเนื่อง
แต่อีกทางหนึ่ง สตัมป์ก็อาจเป็นเพียงแพะรับบาปได้ด้วยเช่นกัน เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้คน รวมถึงเหล่าปศุสัตว์จะถูกหมาป่าในท้องถิ่นทำร้ายเอาจริง ๆ
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือประเด็นสงครามทางศาสนา หากย้อนกลับไปในสมัยนั้น คดีสตัมป์เกิดขึ้นในช่วงที่เรียกว่า สงครามโคโลญ (Cologne War, 1583-1588) ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างคริสตชนฝ่ายนิกายโปรเตสแตนต์กับนิกายคาทอลิก
พอถึงปี ค.ศ. 1589 ฝ่ายนิกายคาทอลิกได้เข้าควบคุมเมืองเบดเบิร์ก การพิจารณาคดีที่โหดเหี้ยมของสตัมป์จึงอาจเป็นเครื่องมือค้ำจุนอำนาจของฝ่ายคาทอลิก ที่ใช้การทรมานมาข่มขู่ฝ่ายโปรเตสแตนต์ให้หวาดกลัว เพื่อยับยั้งความคิดการก่อจลาจล
ซึ่งสตัมป์ถูกกล่าวหาว่าเปลี่ยนมานับถือนิกายโปรเตสแตนต์ จึงถูกจับกุมมาทรมานเป็นตัวอย่างนั่นเอง
เรื่องราวของสตัมป์กลายเป็นแบบอย่างในตำนานมนุษย์หมาป่า และถูกเล่าขานในรูปแบบต่าง ๆ ตามวัฒนธรรมสมัยนิยมหลาย ๆ เรื่อง
พอเล่าถึงตอนนี้ ก็ทำให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เรื่อง Red Riding Hood ก็มีฉากหนึ่งที่คุณพ่อโซโลมอน (แสดงโดย : แกรี เลินนาร์ด โอลด์แมน (Gary Leonard Oldman)) ได้เปิดกล่องที่เก็บซากมือข้างหนึ่งของภรรยาตนเองไว้ให้ชาวบ้านดู
เขาเล่าว่า ครั้งนั้นเคยได้ต่อสู้กับมนุษย์หมาป่าตัวหนึ่งและได้ตัดอุ้งมือข้างหนึ่งของมันมาได้ เจ้ามนุษย์หมาป่าหนีไป เมื่อตนกลับมาถึงบ้านก็พบว่ามือของภรรยาหายไปข้างหนึ่ง พอเปิดกล่องไม้ดู ปรากฏว่าอุ้งเท้าหมาป่าข้างนั้นได้กลายเป็นมือของภรรยาตนเองไปซะแล้ว…
(ภาพประกอบจากภาพยนตร์เรื่อง Red Riding Hoodกำกับโดย : แคทเธอรีน ฮาร์ดวิค (Catherine Hardwicke))
นี่เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนจากบางภาพยนตร์เท่านั้นที่คล้ายคลึงกับเรื่องราวของสตัมป์ แม้ความจริงของคดีนี้ยังคงเป็นปริศนามาจนถึงปัจจุบัน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเชื่อที่โง่งมงายนั้นฆ่าคนตายได้จริง ๆ
ทำไมมนุษย์หมาป่าไม่ถูกกับแวมไพร์
ในวัฒนธรรมสมัยนิยมมักบอกว่า ศัตรูดั้งเดิมของมนุษย์หมาป่าคือ แวมไพร์ (Vampire) เพราะทั้งสองเป็นสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่มีประวัติการปะทะกันมาอย่างยาวนาน
แต่บางครั้ง มนุษย์หมาป่าก็มีนักล่าที่เป็นมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติอื่น ๆ เป็นคู่อริได้ด้วยเช่นกัน…และเมื่อต้องเผชิญหน้ากันทีไร ทุก ๆ ครั้งล้วนเต็มไปด้วยเลือดไหลนอง…
ความจริงแล้ว การสร้างคาแรกเตอร์แวมไพร์กับมนุษย์หมาป่าให้เป็นปรปักษ์กัน เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1901-2000)
แล้วก็ได้รับความนิยมจนเป็นภาพจำมานับแต่นั้น ก่อนจะถูกให้ภาพซ้ำ ๆ กันมาเรื่อย ๆ และถูกนักวิจัยหยิบยกมาวิเคราะห์กันในหลายทฤษฎีหลายแง่มุม
ทฤษฎีแรก คือ แวมไพร์และมนุษย์หมาป่าเป็นตัวแทนของความกลัวขั้นต้นของมนุษย์
แวมไพร์มักถูกมองว่ามีเสน่ห์เย้ายวนใจ แต่ก็อันตรายและเป็นนักล่า เป็นตัวแทนของความกลัวที่จะตกเป็นเหยื่อของคนที่ดูเหมือนจะไม่มีพิษมีภัย
ขณะเดียวกัน มนุษย์หมาป่ากลับถูกมองว่าเป็นคนป่าเถื่อนและดุร้าย เป็นความกลัวที่จะสูญเสียการควบคุม และยอมจำนนต่อสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์
(ภาพประกอบจากภาพยนตร์เรื่อง Twilight กำกับโดย แคทเธอรีน ฮาร์ดวิค (Catherine Hardwicke) แสดงให้เห็นถึงการให้ภาพลักษณ์ที่แตกต่างกันตามคตินิยม ระหว่างแวมไพร์ (ชนชั้นสูง) และมนุษย์หมาป่า (ชนชั้นกลาง-ชนชั้นแรงงาน))
ทฤษฎีที่สอง คือ การแข่งขันระหว่างแวมไพร์และมนุษย์หมาป่า เป็นสัญญะของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น หรือความขัดแย้งทางสังคม
ในบางเรื่อง แวมไพร์ถูกมองว่าเป็นชนชั้นสูงและมีความซับซ้อน ขณะมนุษย์หมาป่าถูกมองว่าเป็นชนชั้นแรงงาน
การแบ่งขั้วนี้สามารถสะท้อนถึงความตึงเครียดระหว่างชนชั้นทางสังคม หรืออุดมการณ์ที่แตกต่างกันได้
อย่างไรก็ตาม การให้ภาพของแวมไพร์กับมนุษย์หมาป่าในฐานะศัตรูคู่อาฆาต ก็อาจเป็นผลมาจากแนวโน้มของวัฒนธรรมสมัยนิยมเพื่อสร้างความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ หรืออาจเป็นเพียงวิธีการผูกปม สร้างจุดขัดแย้งภายในเรื่องราวทางวรรณกรรมเท่านั้นก็เป็นได้
เพราะเอาเข้าจริง… บางครั้งคนเราก็ไม่ได้สนหรอกว่าจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรแอบแฝงอยู่บ้าง นักเขียนอาจเขียนเพราะมันสนุก และนักอ่านก็อ่านเอาสนุก แค่นี้ก็พอแล้ว
มนุษย์หมาป่าในปัจจุบัน
มนุษย์หมาป่าคือ คำสาปหรือโรคร้ายกันแน่ !
ตามตำนานกล่าวว่า มนุษย์หมาป่านั้นกลัวไฟ กลัวแสงอาทิตย์ และแพ้เงิน ปัจจุบันได้มีการค้นพบความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่ถูกยึดโยงกับตำนานความเชื่อเรื่องมนุษย์หมาป่าเข้าแล้ว
โรคแรกเรียกว่า Hypertrichosis หรือ Werewolf Syndrome เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ยาก
ผู้ป่วยโรคนี้จะมีไขมันในเลือดสูง ทำให้มีขนขึ้นทั่วร่างกาย ไปจนถึงใบหน้าและทั่วลำตัว เพราะอย่างนี้ก็อาจทำให้ผู้คนในยุคกลางเข้าใจผิดได้ว่า คนที่มีขนขึ้นดกเป็นพิเศษอาจเป็นมนุษย์หมาป่าที่แฝงตัวอยู่ท่ามกลางฝูงชน
(ภาพของ บาบารา เออร์สลีริน (Babara Urslerin) สาวใช้ขนดก (ค.ศ. 1629)เธอเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรค Hypertrichosis)
โรคหายากอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า Porphyria เป็นกลุ่มของความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการผลิตฮีม (Heme) ซึ่งเป็นโปรตีนที่จำเป็นต่อการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดแดง
ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการผิวไวต่อแสงแดดจนเกิดแผลพุพองบนผิวหนังตอนโดนแสง ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการปวดท้อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก และเกิดอาการทางประสาทอื่น ๆ ได้
บางกรณีผู้ป่วยอาจมีภาวะรุนแรงถึงขั้นมีขนขึ้นตามใบหน้าและร่างกาย หรือมีความผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ด้วย กรณีนี้ก็อาจทำให้ผู้ป่วยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นมนุษย์หมาป่าได้เช่นกัน เพราะว่าแพ้แสงแดดจนเกิดแผลพุพองนั่นเอง
แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งสำคัญคือ โรคทั้งสองชนิดนี้เป็นแค่ความผิดปกติทางพันธุกรรมเท่านั้น โรคไม่สามารถทำให้คนกลายร่างเป็นหมาป่าหรือสัตว์อื่น ๆ ได้ รวมถึง ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนการมีอยู่จริงของมนุษย์หมาป่าด้วย
มนุษย์หมาป่าในศตวรรษที่ 21
มนุษย์หมาป่านั้นเป็นหัวข้อที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน และยังคงเป็นความคลาสสิกที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในสื่อบันเทิงรูปแบบต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ วิดีโอเกม วรรณกรรม และบทเพลงต่าง ๆ เป็นต้น
ตัวอย่างของมนุษย์หมาป่าที่ปรากฏในสื่อปัจจุบัน (เรียงจากใหม่ไปเก่า) :
- Under the skin – &TEAM (2023) : เป็นเพลงของวงบอยแบนด์สัญชาติญี่ปุ่น ในอัลบัม First Howling : ME สังกัดค่าย HYBE LABELS JAPAN เป็นเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวการตามหาส่วนสำคัญหรือคนสำคัญที่หายไปของกลุ่มมนุษย์หมาป่า ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซปต์มนุษย์หมาป่าตอนเดบิวต์วงนอกจากนี้ หลาย ๆ เพลงในอัลบัมของ &TEAM ยังถูกเขียนขึ้นในคอนเซปต์มนุษย์หมาป่าด้วยเช่นกัน
- Dark Moon : The blood altar (2022) : การ์ตูนแนวแฟนตาซี โรแมนติก ลึกลับ แวมไพร์และมนุษย์หมาป่า ภายใต้ลิขสิทธิ์สังกัดค่าย HYBE เผยแพร่อยู่ในปัจจุบันผ่านช่องทาง WEBTOON โดยตัวละครในเรื่องได้ถูกถอดคาแรกเตอร์มาจากศิลปินในค่ายสองวง ได้แก่ ENHYPEN (แวมไพร์) และ &TEAM (มนุษย์หมาป่า) รวมถึงยังได้ใช้เพลงและมิวสิกวิดีโอในอัลบัมประกอบการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน Dark Moon : The blood altar ไปพร้อม ๆ กันด้วยเรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อเด็กสาวคนหนึ่งได้ย้ายมาที่โรงเรียนเดียวกันกับเหล่ามนุษย์หมาป่าและแวมไพร์ หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ร้ายต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งเหล่าแวมไพร์และมนุษย์หมาป่ากลับคิดว่าเรื่องทุกอย่างเป็นฝีมือของอีกฝ่าย และเริ่มแสดงความแค้นเคืองออกมา ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ค่อย ๆ รู้สึกถึงแรงดึงดูดประหลาดที่มีต่อเด็กสาวผู้น่าสงสัยคนนั้น
- Werewolves Within (2021) : ภาพยนตร์แนวสยองขวัญ-คอเมดี เล่าเรื่องของกลุ่มคนที่ติดอยู่ในเมืองท่ามกลางพายุหิมะอันหนาวเหน็บ พร้อมกับมนุษย์หมาป่าที่ออกไล่ล่าสังหารผู้คนโดยแฝงตัวอยู่ในหมู่ชาวบ้าน
- The Witcher 3 : Wild Hunt (2015) : เป็นเรื่องราวในหนังสือและวิดีโอเกมโลกแฟนตาซี ที่จะให้เราสวมบทบาทเป็นนักล่าปีศาจ ซึ่งภายในเรื่องจะเต็มไปด้วยตัวละครที่เป็นสัตว์ประหลาดและปีศาจมากมายหลายชนิด ทั้ง มนุษย์หมาป่า แวมไพร์ แบนชี เป็นต้น
- The Originals (2013) : เป็นซีรีส์ภาคแยกของ The Vampire Diaries ซึ่งเป็นเรื่องราวของตัวเอกที่เป็นลูกผสมระหว่างแวมไพร์กับมนุษย์หมาป่า ที่ออกตามล่าแม่มดผู้วางแผนร้ายจัดการตน
- Wolf (늑대와 미녀 / 狼与美女) – EXO (2013) : เป็นเพลงของวงบอยแบนด์สัญชาติเกาหลีใต้และจีน ในอัลบัม XOXO สังกัดค่าย SM Entertainmentซึ่ง Will Simms และ Kenzie หนึ่งในผู้เขียนเพลงได้อธิบายว่า เป็นเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวอันน่าเศร้าระหว่างมนุษย์หมาป่ากับสาวงาม
- Hotel Transylvania (2012) : อนิเมชันสัญชาติอเมริกัน แนวคอเมดี บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับท่านเคาต์แดรกคูลาที่เป็นเจ้าของกิจการโรงแรมซึ่งเป็นที่ที่เหล่าภูตผีปีศาจและสัตว์ประหลาดตามตำนานสามารถมาพักผ่อนหย่อนใจ หลีกเร้นจากอารยธรรมของมนุษย์ในโลกภายนอกได้เรื่องนี้ได้ให้ภาพของแวมไพร์ที่มีเพื่อนเป็นปีศาจหลากหลายเผ่าพันธุ์ รวมถึงมนุษย์หมาป่าด้วย และทุกเผ่าพันธุ์ก็ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข
- Twilight (2012) : ภาพยนตร์ชุดดังที่สร้างจากนวนิยายของ สเตฟานี เมเยอร์ (Stephenie Meyer) บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่หลงรักกับแวมไพร์หนุ่มรูปหล่อ ซึ่งมีคู่ปรับเป็นเหล่ามนุษย์หมาป่า ที่สุดท้ายต้องได้ร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือเธอและลูกครึ่งมนุษย์แวมไพร์ ให้ปลอดภัยจากการตามล่าของแวมไพร์อีกกลุ่ม
- American Werewolf in London (1981) : ภาพยนตร์สยองขวัญคลาสสิก บอกเล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่งกับเพื่อนที่ถูกมนุษย์หมาป่าทำร้ายจนเพื่อนเขาเสียชีวิต ขณะที่เขาโชคดีรอดมาได้แต่บาดเจ็บสาหัสหลังจากนั้นเขาก็เริ่มฝันประหลาดว่าตนเองได้ออกล่าเหยื่อด้วยการวิ่งสี่ขา ราวกับว่าเขาได้กลายเป็นมนุษย์หมาป่าไปซะแล้ว
วีรบุรุษผู้เปี่ยมไปด้วยโศกนาฏกรรม
หากสังเกตดี ๆ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ภาพของมนุษย์หมาป่านั้นเปลี่ยนไปมากจริง ๆ
ในอดีตคนมักเชื่อมโยงมนุษย์หมาป่าเข้ากับความดุร้าย ป่าเถื่อน ปีศาจ มารศาสนา และฆาตกรอำมหิต เปิดเผยตัวตนออกมาทีไรต้องมีใครตายทุกที
แต่ในปัจจุบัน แม้ความน่ากลัวเหล่านั้นจะยังคงอยู่ โดยกลายเป็นพื้นฐานสัญชาตญาณร้ายอันเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์หมาป่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์หมาป่ามีภาพลักษณ์เปลี่ยนไปมาก
ซึ่งมุมมองเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดผ่านสื่อทั้งนั้น บางครั้งก็ยึดโยงความป่าเถื่อนดุร้ายนั้นเข้ากับความโรแมนติก รูปร่างเย้ายวนใจ เสน่ห์ลึกลับของคนที่หายตัวไปในยามค่ำคืนโดยไม่บอกลา
ทั้งยังถ่ายทอดความรู้สึกของมนุษย์หมาป่าในแง่มุมอื่น ๆ ด้วย เช่น รัก เสียใจ มีความสุข ผิดหวัง หวาดกลัว เป็นต้น หรือกลายเป็นตัวละครในอนิเมชันตลก ๆ ที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูก็เพลินไปอีกแบบ
ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้กลายเป็นเครื่องย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงชีวิตจิตใจ ความรู้สึกของใครบางคนที่โดนสังคมทอดทิ้งไป คนที่มักถูกมองว่าเป็นตัวร้ายมาโดยตลอด แท้จริงแล้วเขาอาจเก็บซ่อนความรู้สึกบางอย่างไว้ภายใน ขอเพียงใครบางคนมองเห็นและรับฟังมันด้วยใจจริง
เพราะบางครั้ง พวกเขาอาจมีเหตุผลที่ต้องแสดงความรุนแรงออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจก็ได้
โดยรวมแล้ว มนุษย์หมาป่ายังคงเป็นหัวข้อที่คลาสสิก ซึ่งยังได้รับความนิยมในสื่อสมัยใหม่อย่างมาก และมีแนวโน้มจะเป็นที่นิยมต่อไปอีกในอนาคต
*
นี่เป็นเพียงข้อคิดเห็น การรวบรวม และวิเคราะห์บางส่วนผ่านแง่มุมของฉันเท่านั้นนะคะ อาจมีทั้งส่วนที่น่าสนใจ หรือมีความลึกลับในแง่อื่นที่ฉันอาจนึกไม่ถึงอีกเยอะเลย ถึงยังไงฉันก็หลงใหลคุณมนุษย์หมาป่ามาก ๆ และก็อยากฟังแง่มุมอื่น ๆ ผ่านมุมมองของทุกคนเหมือนกันค่ะ ห้องสมุดของฉันเปิดรับความคิดเห็นของทุกคนเสมอ
ก็ไม่แน่ว่า… หนึ่งในคนที่กำลังอ่านจนถึงบรรทัดนี้ อาจเป็นมนุษย์หมาป่าที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มคนก็ได้นี่นา… ถ้าฉันเขียนเรื่องราวของคุณผิดไปก็ต้องขออภัยด้วยนะคะ -^^-
ฉันเป็นมือใหม่ที่ยังต้องศึกษาเรื่องของคุณอีกเยอะเลยค่ะ !!!
มาลินทร์, แม่มดฝึกหัด
-บรรณารักษ์-
*
บรรณานุกรม
Isabel Hernández. (2022). A German werewolf’s ‘confessions’ horrified 1500s Europe. สืบค้นจาก : www.nationalgeographic.co.uk
Dahlia Saleh, Siva Naga S. Yarrarapu, Christopher Cook. (2022). Hypertrichosis. สืบค้นจาก : www.ncbi.nlm.nih.gov
Cologne War German history. สืบค้นจาก : www.britannica.com
Hypertrichosis. สืบค้นจาก : www.thehumanmarvels.com
Pingback: Werewolf and Vampire – ชื่อเว็บ
Pingback: มนุษย์หมาป่า ปีศาจที่ออกล่าในคืนพระจันทร์เต็มดวง